จะว่าไป การเลี้ยงลูกของบ้านเราทุกวันนี้ไม่ต่างจากที่ผู้เขียนเขียนถึงการเลี้ยงลูกแบบชาวอเมริกันหรือชาวอังกฤษ ในหนังสือเล่มนี้มากนัก พูดอย่างสั้นๆ คือพ่อแม่แต่ละคนแข่งขันกันเอง แล้วสร้างความเครียดและความยากลำบากให้แก่ตนเองและลูกๆ โดยไม่จำเป็น
-----
ดูเหมือนว่าการเลี้ยงลูกในบ้านเราจะมีความตึงเครียดและยากลำบากมากกว่าอเมริกันหรืออังกฤษเสียด้วยซ้ำ และเป็นเหมือนๆ กันหมดเกือบทั้งประเทศทั้งที่พวกเราไม่จำเป็นต้องทำตัวเองจนกระทั่งตกอยู่ในสภาพเช่นนี้กันถ้วนหน้าเลย
-----
ปี 2013 รายงานจากยูนิเซฟให้เด็กชาวดัตช์เป็นเด็กที่มีความสุขที่สุดในโลก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นประจักษ์พยานและเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงลูกแล้วพบเห็นว่าเด็กดัตช์มีความสุขที่สุดในโลกจริงๆ
-----
คุณพ่อคุณแม่บ้านเราอาจจะมีคำถามว่าความสุขคืออะไร กินได้หรือเปล่า อย่าลืมว่าความเป็นอยู่ในบ้านเรายากลำบากกว่าความเป็นอยู่ในประเทศที่มีสวัสดิการของรัฐแบบดัตช์ นี่คือคำถามที่ท้าทาย
-----
แต่ศตวรรษใหม่ให้คำตอบต่อคำถามนี้แล้ว นั่นคือเพราะบ้านเรามีความยากลำบากในการทำมาหากินนั่นแหละยิ่งเป็นเหตุจำเป็นให้เราต้องเลี้ยงลูกด้วยวิธีใหม่ คือทำให้เขามีความสุขกับการเรียนรู้ก่อน แล้วความสำเร็จจะตามมา
-----
หนังสือเล่มนี้จะเล่าให้ฟังถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ด้วยภาษาของคุณแม่ เช่น “การเลี้ยงดูแบบนั้นช่วยสร้างวัยรุ่นที่มีความมั่นใจ ความรับผิดชอบ และน่าเคารพที่สุดเท่าที่คุณอาจจะเคยพบเจอ วัยรุ่นดัตช์ไม่ดื้อรั้น พวกเขาไม่มีท่าทีหยิ่งยะโสแบบนั้น แต่มีความเป็นตัวของตัวเองตามวุฒิภาวะ แม้จะมีวัฒนธรรมเห็นชอบเรื่องนอนค้างคืนกับคนรัก แต่เนเธอร์แลนด์กลับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่ำที่สุดในโลก”
-----
และถ้าผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกแบบดัตช์จากทารกถึงวัยรุ่นจะส่งผลลัพธ์สุดท้ายเช่นนี้ ต่อให้มีวัฒนธรรมเรื่องเพศสัมพันธ์ที่แตกต่าง ลำพังคำว่า ความรับผิดชอบ และ วุฒิภาวะ ก็ชวนให้ใส่ใจใคร่รู้อยู่ไม่น้อยว่าพวกเขาทำได้อย่างไร
-----
พ่อแม่ทุกวันนี้ยุ่งกับลูกมากเกินไป คือคำพูดสั้นๆที่ตรงประเด็น ทำให้ลูกไม่มีโอกาสได้พัฒนาไปตามจังหวะและความพร้อมของตนเอง คือผลลัพธ์ด้านลบที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือทำไม
-----
เหตุผลคือเด็กๆพัฒนาตนเองด้วยแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้าที่สำคัญคือเซลฟ์เอสตีม (self-esteem) คือความสามารถที่จะนิยามและกำหนดชีวิตของตนเอง
-----
เด็กที่กำหนดชีวิตตนเองได้จะพัฒนาไปข้างหน้าได้ดีกว่าด้วยพลังที่มากกว่า ในขณะที่เด็กที่รู้ตัวว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก มักจะมีเซลฟ์เอสตีมที่ไม่ดีส่งผลให้ไปได้ช้า หรืออยู่นิ่งกับที่เสียมาก
-----
บ้านเราไม่เพียงไม่ส่งเสริมเซลฟ์เอสตีมในเด็กๆทุกๆคน แต่มักขัดขวางเซลฟ์เอสตีมไปจนถึงสร้างความเสียหาย ด้วยคำสั่งที่เข้มงวดห้ามทำนั่นนี่เต็มไปหมด กฎระเบียบกติกาสำหรับเด็กที่มีมากมายอย่างไม่น่าเชื่อในบ้านและที่โรงเรียน ไปจนถึงการศึกษาแบบแพ้คัดออกซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงมากที่สุดต่อเซลฟ์เอสตีมของเด็กๆ
-----
พ่อแม่ชาวดัตช์ไม่ขี้กังวลเหมือนพ่อแม่บ้านเมืองอื่น พวกเขาไม่เป็น “พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์” ที่คอยตรวจตราเด็กๆทุกย่างก้าว พ่อแม่ชาวดัตช์เห็นลูกเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่าและไม่เห็นลูกเป็นส่วนขยายของตัวเอง พวกเขาเชื่อเรื่องความสุขนำมาซึ่งความสำเร็จ ความสำเร็จมิได้ประกันความสุขแต่อย่างใด จะเห็นว่าทัศนคติเหล่านี้แตกต่างจากบ้านเราอย่างสิ้นเชิง
-----
เรื่องที่เขียนในหนังสือเล่มนี้เป็นไปตามจิตวิทยาพัฒนาการพื้นฐานของเด็กๆ มิได้มีความรู้แปลกใหม่หรือมหัศจรรย์แต่อย่างใด นั่นคือมนุษย์เริ่มพัฒนาตนเองด้วยเรื่องความไว้วางใจ (trust) กล่าวคือไม่เพียงทารกและเด็กๆที่ต้องไว้วางใจโลก พ่อแม่เองนั่นแหละที่ต้องไว้วางใจทารกและเด็กๆว่าเขาพัฒนาตัวเองได้ ประเด็นคือไว้วางใจ ไม่ใช่การใช้อำนาจ เด็กไว้ใจพ่อแม่ พ่อแม่ไว้ใจเขา เขาไว้ใจโลก เขาจะพัฒนาต่อไปด้วยพลังที่เหลือเฟือ
-----
จิตวิทยาพัฒนาการที่ถัดจากเรื่องความไว้วางใจคือเรื่องการสร้างตัวตนของพ่อแม่ และสายสัมพันธ์ที่เด็กมีกับพ่อแม่ คือองค์ประกอบสำคัญที่คอยกำกับเด็กที่มีพลังล้นเหลือให้พัฒนาไปถูกทิศทาง
-----
ตัวตนของแม่ชัดเจนเป็นเรื่องดีที่สุด แต่พ่อชาวดัตช์ขอทำหน้าที่นี้ด้วย พ่อชาวดัตช์ช่วยเลี้ยงลูกและช่วยทำงานบ้าน พาลูกไปสนามเด็กเล่นหรือท่องเที่ยวในวันหยุด พ่อชาวดัตช์ที่อุ้มลูก เข็นรถให้ลูกไม่กลัวที่จะถูกมองว่าไม่สมชาย เพราะนี่คือวิธีที่ง่ายในการสร้างตัวตนที่ชัดเจนของพ่อ ทำให้พ่อมีอยู่จริงๆในสายตาและในจิตใจของลูก นอกเหนือจากที่มีแม่อยู่แล้วคนหนึ่ง เด็กจึงสามารถใช้พลังจากเซลฟ์เอสตีมพัฒนาตัวเองพุ่งไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ เพราะมีพ่อแม่เป็นกองหลังที่ไว้ใจได้ถึงสองคน
-----
พ่อแม่ชาวดัตช์มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องการชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีกับข้อเสีย กล่าวคือพวกเขายอมรับความจริงของชีวิตที่ว่าไม่มีอะไรที่เรียกว่าดีที่สุด ทุกวิถีทางมีราคาต้องจ่ายเสมอ ไม่เว้นแม้แต่การเลี้ยงลูกที่เราอาจจะไม่ต้องเครียดมากหรือกังวลไม่สิ้นสุดกับการสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกโดยไม่น้อยหน้าบ้านอื่น แต่เราควรให้ลูกได้พบปะประสบการณ์สารพัดชนิดโดยมีเรายืนดูอยู่ข้างหลังก็พอ แล้วคอยชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียในแต่ละจังหวะก้าว รวมทั้งฝึกให้ลูกประเมินข้อดีข้อเสียด้วยตัวเองอีกด้วย
-----
“ความชอบของพ่อแม่ดูเหมือนจะไม่เคยเป็นอิทธิพลหลักที่นี่ นี่ต้องเป็นสิ่งที่พวกเขาหมายถึงเวลาเรียกเนเธอร์แลนด์ว่า ‘สังคมที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง’ เพราะสุดท้ายแล้วเด็กคือคนที่ต้องไปโรงเรียน” คือเรื่องพิเศษอีกเรื่องหนึ่งของเด็กดัตช์ “การเป็นที่หนึ่งในชั้น เรียนจบเกียรตินิยม เล่นดนตรีถึงระดับสูงสุด” มิได้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ชาวดัตช์ต้องกังวลแต่อย่างใด ไม่มีใครคาดหวังเช่นนั้นและไม่มีใครแข่งขันกันหาโรงเรียนที่ดีที่สุดให้แก่ลูก
-----
แน่นอนว่าแม่ทุกคนอยากจะเป็นแม่ที่ดี แต่พ่อแม่ชาวดัตช์มิได้คิดเรื่องการเป็นพ่อแม่ที่ดี พวกเขาคิดแค่เรื่องเป็นพ่อแม่ที่ดีพอ “แนวคิดเรื่องแม่ที่ ‘ดีพอ’ ถูกกำหนดเป็นครั้งแรกในศตวรรษ 1950 โดยโดนัลด์ วินนิคอตต์ กุมารแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ หลังจากศึกษาแม่และเด็กมาหลายพันคน เขาได้ข้อสรุปชัดเจนว่าการเป็นแม่ที่ดีคือการเป็นแม่ที่ดีพอ การเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบนั้นทั้งเป็นไปไม่ได้และไม่น่าปรารถนา” ด้วยแนวคิดเช่นนี้แม่ชาวดัตช์ดูเหมือนจะมีความรู้สึกผิดน้อยกว่าชาติอื่นๆ
-----
เป็นเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่าพ่อแม่ชาวดัตช์ปล่อยปละละเลย ในทางตรงข้ามพวกเขาได้ทำงานอย่างจริงจังตั้งแต่วันแรกที่ลูกเกิดมา แต่ก็ด้วยหลักการพื้นฐานที่ง่ายมาก คือ “แรนไฮด์, รึสท์ เอ็น เรเคิลมาท” (Reinheid, rust en regelmaat) แปลตรงตัวว่า ความสะอาด ความเงียบสงบ และความสม่ำเสมอ หรือที่คนดัตช์เรียกว่า “3R” หลัก 3R นี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
-----
เมื่อแม่ชาวดัตช์ใช้หลัก 3R กับลูก ความสะอาด ความเงียบสงบ และความสม่ำเสมอ โดยเริ่มที่การให้นมและการนอน ก่อนที่จะนำไปสู่การกินอาหารและกิจวัตรอื่นๆ พวกเขาพบว่าเด็กชาวดัตช์ส่วนใหญ่เป็นเด็กเลี้ยงง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ เด็กๆที่รู้ว่าวันหนึ่งๆจะได้อะไรหรือทำอะไรเมื่อไรจะกลายเป็นเด็กที่มั่นใจและไม่งอแงเรื่องมากอยู่ตลอดเวลา
-----
ความสะอาด มิได้แปลว่าอนามัยจัด ความเงียบสงบ กินความถึงความมั่นคงทางอารมณ์ของผู้เป็นพ่อแม่ ความสม่ำเสมอที่จะให้ปัจจัยสำคัญตามตารางเวลาทุกเมื่อเชื่อวันจนกระทั่งเด็กเรียนรู้ได้ เหล่านี้ทำให้ปัญหาที่ควรจะมีกลับไม่มี
-----
แม้กระทั่งการนอนที่ชาวดัตช์นิยมใช้วิธีที่เรียกว่า cry it out คือปล่อยให้ลูกร้องจนหลับก็มิได้หมายถึงการปล่อยลูกให้ร้องแต่เดียวดายหลายชั่วโมง ที่แท้แล้วแม่ชาวดัตช์จะอยู่ด้วยเสมอ อย่างเงียบสงบ และค่อยๆถอยห่างออกตามจังหวะอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งทารกเรียนรู้ว่าเขาจะไม่ได้รับอะไรจากการร้องแล้วหลับด้วยตนเองในที่สุด
-----
แม่ชาวดัตช์ที่ทำทุกอย่างดูเหมือนง่ายนี้สร้างความกังวลให้แก่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ “ฉันไม่แน่ใจว่าการส่งยูเลียสไปที่โรงเรียนนี้จะดีกับเขาไหม เขาไม่ได้เรียนอะไรเลย ไม่แม้แต่พยัญชนะหรือตัวเลข คุณคิดว่าเขาจะตามเพื่อนไม่ทันหรือเปล่า” เพราะสำหรับพ่อแม่ทั่วไปแล้ว “การศึกษาคือทุกอย่าง คาถาก็คือ การเรียนเก่งเป็นหนทางเดียวสู่ชีวิตที่ดีกว่า มันเป็นเรื่องของการอยู่รอด การเริ่มต้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้หมายถึงได้เรียนรู้มากขึ้น นกที่ตื่นเช้าย่อมหาหนอนได้มากกว่า หน้าเฟซบุ๊กของฉันเต็มไปด้วยเพื่อนจากบ้านเกิดที่ลงรูปอวดความสำเร็จของลูกๆ”
-----
จะเห็นว่าผู้เขียนตกที่นั่งเดียวกับพ่อแม่บ้านเราจำนวนมากมาย เราแบกรับความคาดหวังที่จะต้องเป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุด เรากดดันลูกให้เรียนเก่งที่สุด เราไม่มีความมั่นใจเลยเมื่อพบว่าลูกของเรามีความสุขกับการเล่นในขณะที่ลูกคนอื่นกำลังอ่านเขียนเรียนเลข
-----
เราอยู่ไม่ติดเมื่อเห็นพ่อแม่ท่านอื่นอวดลูกในเฟซบุ๊ก เรากำหนดตารางการเรียนให้แก่ลูกแต่ลืมกำหนดตารางกิจวัตรประจำวันในเรื่องพื้นฐานที่ควรจะเป็น ทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้การเลี้ยงลูกกลายเป็นภารกิจที่ยากลำบากมากขึ้นทุกทีๆ ทั้งที่ควรจะง่ายและมีความสุข
-----
การเลี้ยงลูกให้มีความสุขประกันความสำเร็จมากกว่าคือเนื้อหาหลักของหนังสือทั้งเล่ม มีคำอธิบายและหลักฐานประกอบที่เห็นจริง ด้วยคำอธิบายที่วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่เรียกว่า Executive Function(EF) กล่าวคือเด็กเองที่จะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายของชีวิต เราเลี้ยงเด็กเพื่อให้มีความนับถือตัวเอง ความเชื่อมั่น การควบคุมตัวเอง และการคิดวิเคราะห์ในระดับที่เหมาะสมกับจังหวะก้าวของตัวเองเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่เขาตั้งเอาไว้
-----
นี่คือหนังสือเล่าเรื่องการเลี้ยงลูกที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง"
-----
หนังสือ พ่อแม่ดัตช์เลี้ยงแบบนี้ หนูแฮปปี้สุดๆ
แปลมาจากหนังสือ The Happiest Kids in the World - How Dutch Parents Help Their Kids (and Themselves) by Doing Less
-----
เขียนโดยคุณแม่ชาวอังกฤษ Michele Hutchison และ Rina Mae Acosta คุณแม่ชาวอเมริกันที่ไปแต่งงานกับสามีชาวดัตช์ และเลี้ยงลูกที่เนเธอร์แลนด์ บอกเล่าประสบการณ์ตรงจากชีวิตประจำวันและการคลุกคลีกับการเลี้ยงลูกในสไตล์ดัตช์ ตั้งแต่การคลอดลูก เลี้ยงลูกในวัยเด็ก จนถึงวัยรุ่น
แปลโดย อสมาพร โคมเมือง