The Happiest Kids in the World
พ่อแม่ดัตช์เลี้ยงแบบนี้ หนูแฮปปี้สุดๆ
(2017, SandClock Books)
.
ก่อนเริ่มอ่าน ได้คุยกับคุณทรายแซนด์คล็อก คุณทรายบอกว่า เล่มฝรั่งเศสว่าชิลแล้ว แม่ดัตช์ชิลกว่าร้อยเท่า ขอให้ลองอ่านดู พออ่านแล้วก็พอว่า เออ จริงว่ะ ความเหมือนของทั้งสองเล่ม คือเป็นการเล่าเรื่องจากมุมของคนนอก ที่มองเห็นวิธีการเลี้ยงเด็กของทั้งฝรั่งเศสและดัตช์ แล้วก็เลยเก็บมาเล่า เล่าไปเล่ามามันก็สะท้อนให้เห็นภาพที่ใหญ่กว่านั้น คือพื้นฐานสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมันปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบสังคมมันมีผลอย่างยิ่งแหละต่อการเติบโตของมนุษย์คนนึง นอกไปจากพลังการเลี้ยงดูของพ่อแม่
.
ถ้าในแง่ความอ่านเพลิน เราว่าเล่มแม่ฝรั่งเศสอ่านได้เพลินกว่า และเก็บเกี่ยวอะไรมาได้มากกว่าอยู่หน่อย น้ำเสียงของคนเขียนก็มันกว่าด้วย ส่วนเล่มดัตช์จะออกไปในแนวเปิดโลก เปิดหูเปิดตา อ่านแล้วก็จะ อื้อหือ โอ้โหมึง เอางี้เลยเหรอ หลายอย่างดีแบบดีมาก ส่วนบางอย่างก็อาจจะทำได้ยากในบริบทสังคมไทยนะ ก็รู้เอาไว้ให้จิตใจอิจฉาเล่นก็เป็นพอ
.
แนวทางการเลี้ยงเด็กให้เติบโตแบบดัตช์เอาจริงๆ ก็ไปในทางเดียวกับแนวของคุณหมอประเสริฐล่ะ ซึ่งถ้าเป็นไปตามชื่อหนังสือ ก็แสดงว่า ด้วยการเลี้ยงดูแบบนี้ เราก็จะได้เด็กที่สุขภาพจิตดีและมีความสุขทีสุดในโลก แต่ก็นะ ถ้าเอาเด็กดัตช์มาโตในเมืองไทย มันก็อาจจะต้องเพิ่มอีกหลายสกิลหน่อยถึงจะเอาตัวรอดได้ 555 แต่ถึงเราจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง และอาจจะดูฟุ้งฝัน แต่เราว่าพ่อแม่รุ่นนี้ ยุคนี้ อาจจะช่วยกันมอบเด็กไทยที่สุขภาพจิตดี ตรรกะแข็งแรง เอาไว้ให้ประเทศ แล้วเราก็หวังต่อว่า ประเทศในยุคของลูกเรา มันจะมีอะไรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง จากฝีมือของพลเมืองที่แข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และตรรกะ
.
แต่สิ่งที่พบเจอในหนังสือ และชอบมาก คือสวัสดิการด้านการดูแลคุณแม่หลังคลอด เขาเล่าว่า ในช่วงแรกหลังจากคลอดและกลับมาบ้าน จะมีพยาบาลแม่และเด็ก ชื่อเรียกว่า "ครามเฟอร์ซอร์กสเตอร์" (นี่ชื่อจริงๆ เนาะ 555) มาอยู่คอยช่วยเหลือคุณแม่มือใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านราวๆ สองอาทิตย์ ทำทั้งดูแลสภาพจิตใจ ให้คำปรึกษา และช่วยทำงานบ้านตามสมควรด้วย โว้ยยย อันนี้อิจฉามากๆ
.
เราว่าอันนี้สำคัญมากจริงๆ คนที่เพิ่งคลอดลูกทุกคนน่าจะเข้าใจ คือมันเปลี่ยนทุกอย่าง เราต้องเผชิญเรื่องใหม่ทั้งหมด ลำพังเจอสิ่งใหม่ในสภาพร่างกายที่แข็งแรงมันก็ว่ายากแล้วใช่ไหม แต่นี่เราต้องอยู่กับมันด้วยร่างกายที่อ่อนล้า เจ็บแผล อดนอน ฯลฯ มีคำถามมากมายที่อยากจะหาใครซักคนอยู่ใกล้ๆ แล้วช่วยตอบกูหน่อย บางบ้านอาจจะมีย่ายาย มีพี่สาว หรือใครที่มีประสบการณ์เลี้ยงลูกมาก่อน ก็พอจะให้คำปรึกษาได้ แต่แบบ มันไม่มีมาตรฐาน เปี่ยมไปด้วยความเชื่อและอคติ ซึ่งมีโอกาสสร้างความนอยด์ให้คุณแม่เพิ่มเติมแทนที่จะสบายใจ ดีไม่ดีก็วอร์กันอีก เหนื่อยเพิ่มไปอีกเรื่อง
.
จำได้ว่าตอนวันสุดท้ายที่เราจะออกจากโรงพยาบาลคือร้องไห้หนักมาก เพราะรู้สึกเหมือนจะถูกพรากจากญาติผู้ใหญ่ อยู่โรงพยาบาลสงสัยอะไรก็มีคนตอบ มีคนช่วยเหลือทุกอย่าง แต่อีกสามชั่วโมงกูจะต้องกลับบ้านแล้ว เอาลูกเข้าเต้ายังไม่เป็นเลย เช็ดสะดือลูกทำยังไงวะ หูต้องแคะมั้ย บีแพนเธนนี่มันทาหน้าได้รึเปล่า กูจะรอดได้ยังไง อัดอั้นตันใจ ร้องไห้แม่งเลย
.
โรงพยาบาลที่เราคลอดก็น่ารักดี คือหลังกลับบ้านได้หนึ่งวัน ก็มีคุณพยาบาลแผนกสูติฯ โทรมาสอบถามว่าเราเป็นยังไงบ้างการเผชิญลูกด้วยตัวคนเดียว มีอะไรต้องการคำปรึกษาหรือช่วยเหลือมั้ย ให้นมลูกมีปัญหามั้ย โอ้โห กูร้องไห้ใส่คุณพยาบาลอีก ทั้งซึ้งใจและรู้สึกเหมือนมีคนโยนห่วงยางมาให้เกาะ ก็ปรึกษากันทางโทรศัพท์ไป ถ้ามีอะไรก็เข้าไปที่คลินิกนมแม่ เออ คือมันก็ดีแหละ แต่มันคงจะดีกว่า ถ้ามีสวัสดิการแบบที่เราอ่านในหนังสือ คือส่งคนมาเล้ย มาอยู่มาช่วยที่บ้าน คือการหอบลูกเล็กมากออกจากบ้าน มันก็เป็นเรื่องน่าวิตกสำหรับแม่มือใหม่นะเว้ย ไหนจะวางแผนการเดินทาง ไหนจะจัดกระเป๋า ไหนจะกลัวลูกร้องบนคาร์ซีท ยากไปหมดทุกสิ่ง
.
เนี่ย พอเราได้อ่านเรื่องดีๆ ของที่อื่น ก็อดคิดย้อนมามองตัวเองและที่ที่เราอยู่ไม่ได้ ว่ามันทำอะไรให้ดีกว่านี้ได้มั้ย ทุกคนมองภาพอนาคตของประเทศที่สดใสผ่องอำไพ แต่ไม่มีใครใส่ใจจริงจังที่จะลงทุนกับหน่วยย่อยที่สุด กับจุดเริ่มต้นที่สุดของอนาคตประเทศคุณเลย มันก็เลยไปกันแบบกระท่อนกระแท่นแบบนี้ เราผู้เป็นพ่อแม่ก็อาจจะต้องใช้พลังเยอะหน่อย เหนื่อยกันเองมากหน่อย แต่ด้วยสกิลที่เราฝึกฝนผ่านการเอาตัวรอดกับทุกรายละเอียดในบ้านเมือง ทั้งการกินอยู่ การเดินทาง ระบบขนส่งใดๆ กับแค่การเลี้ยงลูก ทำไมเราจะดิ้นรนเองไม่ได้ล่ะ สบายอยู่แล้ว พ่อแม่ดััตช์ก็ทำไม่ได้หรอก อิอิ
.
สนุกดี เปิดหูเปิดตา ชวนอ่านค่ะเล่มนี้