ครูเมเขียนหนังสือดี อ่านเข้าใจง่าย และลงรายละเอียดอย่างที่นักวิชาการพึงกระทำ หากท่านอยากรู้ว่าละเอียดเพียงใด ให้เปิดไปหน้าที่ว่าด้วยการ #ฝึกเด็กกินข้าวด้วยตัวเอง ใน 30 นาที หรือเรื่อง #การเก็บของเล่น แล้วอ่านดู จะพบว่ายาวเกือบสิบหน้าและอ่านเข้าใจง่าย เป็นขั้นเป็นตอนพร้อมเหตุผล และข้อสนับสนุนทางวิชาการ สมมติว่าท่านกำลังมีปัญหากับสองเรื่องนี้ ยืนอ่านก่อนเลย
ต่างกันกับวิธีที่ผมเขียนทั้งเรื่องการกินข้าวและเรื่องเก็บของเล่น มีบันทึกไว้หลายสถานที่ต่างกรรมต่างเวลาว่าผมเขียนไม่เกิน 1 ย่อหน้าในแต่ละเรื่อง เมื่อมาพบนักจิตวิทยาเขียนให้อ่านอย่างละเอียดจึงตั้งใจอ่านทุกตัวอักษร เพื่อจับผิดตัวเองเป็นอย่างแรกว่าเขียนอะไรไม่ตรงวิชาการออกไปบ้างหรือเปล่า เมื่ออ่านจบก็สบายใจ ต่อไปใครมาถามเรื่องนี้จะได้โยนมาที่ครูเม “ครูเมสอนมา”
ไม่เพียงเรื่องการกินข้าวและการเก็บของเล่นที่นานๆ ครั้งจะมีเสียงต่อว่าว่าคำแนะนำเหล่านี้มากเรื่องและเรื่องมากเกินไปหรือเปล่า คนรุ่นปู่ย่าตายายก็เดินป้อนข้าวลูกสุดสนามฟุตบอลกันมาเป็นปกติ (อันนี้ก็เขียนเกินเลย)
เด็กๆ ก็เติบโตขึ้นมาเป็นปกติเหมือนคุณหมอ (ที่จริงแล้วผมนั่งพุ้ยข้าวกินเองมาตลอด) ผมก็จะตอบเสมอว่าถ้าอะไรที่ทำอยู่ไม่มีปัญหาอะไรก็ทำไปเถิด
แต่ถ้าเริ่มรู้สึกมีปัญหา นี่เป็นยุคสมัยที่อาจจะต้องอ่านเพิ่มบ้างเหมือนกัน
เพราะข้อแตกต่างของยุคสมัยที่สำคัญคือไอที
ไอทีมิได้เพียงทำให้เด็กอัลฟา (เกิดตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา) เปลี่ยนไป ไอทีทำให้สมองและเวลาที่มีอยู่ของคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่เปลี่ยนไปด้วย อะไรที่คนรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองทำกับผม หรือคนรุ่นผมเคยทำกับคนที่เป็นพ่อแม่วันนี้ อาจจะใช้ไม่ได้ผลไปจนถึงมีผลเสียหากทำกับเด็กเกิดใหม่วันนี้
ทั้งหมดนี้ผมพูดสั้นเขียนสั้นเสมอมา ส่วนใหญ่เขียนจากตำราแพทย์ ประสบการณ์ดูผู้ป่วยที่เป็นผลลัพธ์ของการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และจากประสบการณ์ตรงในการช่วยภรรยาเลี้ยงลูกสองคนซึ่งวันนี้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เราสองคนภาคภูมิใจ บางครั้งจะอ้างอิงตำราแพทย์หรืองานวิจัยแต่ก็เขียนและพูดอย่างสั้นอยู่ดี
ต่างจากครูเมที่เขียนถึงนักคิดและนักวิจัยในอดีตบางคนอย่างละเอียด เป็นโอกาสที่ผมได้อ่านทวนความรู้ไปในตัวว่าได้พูดหรือเขียนอะไรคลาดเคลื่อนไปบ้างหรือเปล่าอีกครั้งหนึ่ง เช่น เพียเจต์ อีริกสัน และโบล์วบี ไม่นับงานทดลองคลาสสิกที่ถูกอ้างอิงเสมอมา เช่น ลิงกระป๋องของแฮรี ฮาร์โลว์ หรือหน้าผาจำลองของเจมส์ ซอส เป็นต้น
ไม่เพียงเรื่องกินข้าวและการเก็บของเล่นเท่านั้น เรื่องใหญ่ๆ เช่น การเลี้ยงดูเด็กในขวบปีแรก การปรับพฤติกรรมเด็ก รวมทั้งเรื่องราวระหว่างพี่น้อง เหล่านี้มีคำพรรณนาอย่างละเอียดถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่และเรื่องที่ควรทำเป็นข้อๆ ง่ายต่อการอ่านและจัดลำดับความคิดให้ดีๆ ก่อนที่จะวางหนังสือลงแล้วลุกไปสติแตกกับลูกต่อ
ก่อนจะเปิดอ่านรายละเอียดข้างใน ผมชวนให้อ่าน 6 ข้อในบทนำก่อน เป็นคำแถลงเปิดเรื่องที่กระชับและตรงประเด็น ที่สำคัญคือไม่มีให้อ่านที่อื่นครบถ้วนเท่านี้ ถ้าท่านได้แนวคิดรวบยอดแม่นยำนี้แล้ว ถึงจะสติแตกไปบ้างก็จะไม่มากเกินไป
ข้อห้าม 3 ข้อสำหรับเด็ก หน้าจอแตกต่างจากชีวิตจริงอย่างไร การสื่อสารไม่เหมือนการพูดได้อย่างไร ความรู้สึกต่างจากพฤติกรรมอย่างไร เซลฟ์เอสตีมหรือความมั่นใจในตนเองเป็นอย่างไร ไปจนถึงการสอนให้เด็กเรียนรู้จักและระบุอารมณ์ของตนเอง เหล่านี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับท่านที่ได้อ่านความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กมาจากที่อื่นๆ บ้างแล้ว
ผมควรเขียนหนังสือที่ลงรายละเอียดทุกเรื่องแบบนี้ด้วยตัวเองสักเล่มหนึ่ง แต่เชื่อว่าทำไม่ได้แน่ เป็นเรื่องดีที่คุณเมได้สละเวลามานั่งเขียนรายละเอียดทั้งหมดให้อ่าน ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อคุณแม่ทั่วไปแต่ยังประโยชน์ให้แก่ตัวผมเองมากกว่ามากด้วย
ครูเมเป็นผลผลิตของการศึกษาทางเลือก การศึกษาทางเลือกควรจะมีรากฐานจากการศึกษาอย่างที่เรียกว่า constructivism (ทฤษฎีประกอบสร้างนิยม) หลายคนคิดว่าหลักการประกอบสร้างนิยมนี้เป็นนักเรียนสร้างความรู้เองอย่างไร้ทิศทาง
ในทางตรงข้ามเด็กๆ ที่ได้รับโอกาสได้เรียนรู้ในโรงเรียนที่ยึดหลักการนี้จะเติบโตเป็นบุคคลที่รู้รอบด้าน มีฐานที่มั่นคง และมีจิตใจเปิดกว้างมากพอที่จะยอมรับสิ่งใหม่ๆ แล้วประมวลออกมาเป็นแนวคิดรวบยอดหรือแม้กระทั่งนวัตกรรมใหม่
การประกอบสร้างนิยมจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นที่เด็กเป็นศูนย์กลาง แล้วค่อยๆ ประกอบสร้างขึ้นมาเหมือนการสร้างนั่งร้านในตอนแรกๆ แต่นั่งร้านนั้นจะกลายเป็นจรวดเพื่อเดินทางไปนอกโลก หรือจะเป็นยานเวลาที่พาเราไปมิติอื่นจึงเป็นลำดับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน การประกอบสร้างความรู้ใหม่ๆ เรื่องจิตวิทยาเด็กเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคมไทยวันนี้
เราใช้ cookies เพื่อเพิ่มประสบการณ์การซื้อสินค้าของคุณ กด ยอมรับ เพื่อเลือกซื้อสินค้าต่อ หรือตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบาย cookies ของเราได้ ที่นี่