0

คำนิยม
2022-02-22 12:31:19
คำนิยม The Power of Input ศิลปะของการเลือก-รับ-รู้ โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าควรเขียนหนังสือเล่มนี้เองก่อนที่จะถูกผู้อื่นเขียนตัดหน้า มิหนำซ้ำผู้เขียนคือคุณชิออน คาบาซาวะ เป็นจิตแพทย์ที่อายุน้อยกว่าและมีผลงานเขียนหนังสือ 30 เล่ม...
Share

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าควรเขียนหนังสือเล่มนี้เองก่อนที่จะถูกผู้อื่นเขียนตัดหน้า มิหนำซ้ำผู้เขียนคือคุณชิออน คาบาซาวะ เป็นจิตแพทย์ที่อายุน้อยกว่าและมีผลงานเขียนหนังสือ 30 เล่ม (ตามประวัติในตอนท้ายของหนังสือ)  ในขณะที่ผมมีผลงานหนังสือ 66 เล่ม (ขณะเขียนคำนำเสนอนี้) ไม่นับเรื่องผลงานบนโลกออนไลน์ที่ผู้เขียนมีมากกว่าผมมาก 


แต่ผมคงเขียนหนังสือเล่มนี้เองมิได้เหตุเพราะผู้เขียนได้ลงรายละเอียดทุกเรื่องและทุกขั้นตอนอย่างเหลือเชื่อ   เรียกได้ว่าต่อให้ท่านไม่รู้จะเริ่มต้นผลิตผลงานได้อย่างไร  ท่านสุ่มเปิดขึ้นมาสักหน้าแล้วเริ่มต้นที่หน้านั้นก็ได้เลย


หนังสือเล่มนี้จะเล่าเรื่องการนำเข้าคือ INPUT แต่เพียงไม่กี่หน้าท่านจะพบว่าการนำเข้าและการนำออกคือ OUTPUT เป็นเรื่องเกิดควบคู่กันเสมอ  คือสองด้านของเหรียญเดียวกัน  ท่านจะเอาแต่นำเข้าโดยไม่นำออกมิได้  และท่านจะเอาอะไรออกก็ไม่รู้โดยไม่มีของนำเข้าก็มิได้


มีคนถามผมเสมอว่าเขียนเพจได้อย่างไรวันละ 4-5 เรื่องติดต่อกันนานกว่า 5 ปีโดยไม่มีวันหยุด   มีบทความกึ่งวิชาการทุกๆเช้ามาติดต่อกันนานกว่า 5 ปี  ไม่นับบทความขนาดยาวในนิตยสารและนิตยสารออนไลน์เดือนละหลายชิ้น    นับเฉพาะ 5 ปีสุดท้ายหลังเกษียณอายุราชการนี้มีหนังสือตีพิมพ์ปีละ 4-5 เล่ม อย่างต่อเนื่อง   คำตอบที่ผมให้แก่คนที่ถามเสมอคือผมอ่านหนังสือทุกวัน  นั่นเป็นคำตอบที่หนึ่ง  การอ่านหนังสือเป็น INPUT


ที่จำเป็นมากกว่าคือเขียนหนังสือทุกวัน นั่นคือ OUTPUT ผมบอกคนใกล้ชิดว่าวัตถุดิบในสมองมีมากเสียจนไม่สามารถเก็บเอาไว้ได้   จำเป็นต้องระบายออกไปก่อนที่จะเลือนหายไป  และที่เขียนวันละ 5 เรื่องนี้คือเกรงใจมากแล้ว   มีเรื่องอยากเขียนอยากบอกอยากเล่าวันละสิบเรื่องโดยประมาณ   เมื่ออายุพ้น 50 ปีขึ้นมามีหลายครั้งที่สมองเป็นคนเขียนหนังสือเอาเอง  ผมเพียงตั้งย่อหน้าแรกให้ได้เท่านั้น  ข้อความที่เหลือจะพรั่งพรูออกมาไม่หยุด


คำถามถัดไปคือ อ่านอะไร มากเท่าไร เขียนอะไร มากเท่าไร คัดสรรข้อมูลอะไร จัดเก็บข้อมูลอย่างไร และเหลือชีวิตส่วนตัวบ้างหรือเปล่า  คำตอบต่อคำถามทั้งหมดนี้จะยาวมากมายจนเขียนหนังสือได้ทั้งเล่มนั่นคือหนังสือเล่มนี้  ผู้เขียนตอบทุกคำถามอย่างหมดจด  และบางคำตอบให้ตัวเลขที่วัดได้ด้วย


เอาแค่คำถามแรก  อ่านอะไรและอ่านเท่าไร  ไม่นับว่าอ่านอย่างไร จะว่าไปผมไม่มีคำตอบตายตัวกับคำถามเหล่านี้  และเชื่อว่าหลายๆ ท่านก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำในหนังสือเล่มนี้ทุกตัวอักษร   ผู้เขียนลงรายละเอียดถึงสัดส่วนระหว่างการอ่านและการเขียน  นั่นคือระหว่าง INPUT และ OUTPUT ว่าอย่างไรจึงจะดีที่สุด  มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือก่อนเปิดหนังสืออ่านสักเล่มเราต้องคิดให้ดีก่อนว่าจะอ่านอะไร และต้องการอะไร ถ้ามีความชัดเจนตรงนี้ ทุกๆ การนำเข้าหรือ INPUT ของท่านจะถูกนำไปใช้เพื่อผลิตผลงานคือ OUTPUT อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทุกครั้งไป


ผู้เขียนเขียนว่าตนเองดูหนังมากกว่า 200 เรื่องต่อปี  ผมดูมากกว่า 300 เรื่องต่อปี  นี่นับเฉพาะเวลาปัจจุบัน  ที่จริงแล้วผมดูหนังเกือบทุกวัน  วันละมา 1-2 เรื่อง มาตั้งแต่โลกมีสิ่งที่เรียกว่าวิดีโอเทป  สมัยเรียนชั้นมัธยมและมีเงินจำกัดตัวเองดูหนังสัปดาห์ละ 3-5 เรื่องทุกสัปดาห์ด้วยค่าตั๋วแถวหน้าที่ราคาถูกที่สุดของเมื่อ 40 ปีก่อนคือ 10 บาท   หนังเป็นเรื่องมีสาระหรือไม่ เป็น INPUT ที่ดีพอหรือเปล่า แล้วนำมาสร้าง OUTPUT ได้ทุกๆเรื่องหรือเปล่า  ผมมีคำตอบส่วนตัวว่า ใช่  หนังที่ไร้สาระที่สุดก็ยังมีสาระในความไร้สาระนั้น  และผมสร้าง OUTPUT ได้จากหนังทุกเรื่องจริงๆ 


ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มิได้เขียนเฉพาะเรื่องหนังสือและหนัง  แต่เขียนเรื่องดนตรี อินเทอร์เน็ต และทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่อยู่รายรอบตัวเรา  ลองเปิดดูตอนกลางๆของหนังสือจะพบว่ามีทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ เราสามารถปล่อยให้ INPUT ไหลเข้าร่างของเราได้อย่างไร  ไหลเข้ามาจนล้นและมีเหลือเฟือให้ผลิตผลงานออกไปได้ทุกวันๆ โดยไม่สิ้นสุด  


หากจะถามว่าแล้วอะไรที่สามารถขวางทางเราได้คำตอบคือความหมดไฟ  ไม่อยากเขียน  เพราะมันไม่สนุกอีกต่อไป


ปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงวิธีที่เราจำเป็นต้องผ่อนคลาย  หนังสือฮาวทูลักษณะนี้มักเฆี่ยนตีเราไม่ยั้งจนกระทั่งเหมือนว่าเกิดมาเพียงเพื่ออ่านและเขียนโดยไม่ใช้ชีวิต  แต่มิใช่เลยเราต้องใช้ชีวิตแน่เพียงแต่เราเองเป็นผู้กำหนดวิธีใช้ชีวิต  ดังนั้นนอกจากการทำงาน  ทำงานจนกระทั่งสนุกกับการทำงานและทำให้งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่น่ารื่นรมย์แล้ว  การผ่อนคลายที่ผู้เขียนแนะนำไว้มีหลายข้อ  แต่มีข้อหนึ่งที่ผมชอบมากคือ “หลับตา” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทำประจำ


หลับตา  ตัดประสาทสัมผัสของเราออกจากโลกชั่วคราวเป็นบางครั้ง พลังชีวิตก็จะกลับคืนมาทุกครั้งไป 


มีรายละเอียดอีกสองเรื่องในหนังสือเล่มนี้ที่อาจจะดูเหมือนเป็นท่อนแยก แต่ก็สำคัญมากพอที่จะแยกออกไปมิได้  หนึ่งคือเรื่องเทคนิคการนั่งฟังผู้คน  นี่เป็นเรื่องเฉพาะทางของจิตแพทย์  แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกคน  การนั่งฟังคนให้เป็นช่วยให้เราไม่เหนื่อย และช่วยให้เราได้ INPUT ตลอดเวลา อีกเรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนท่อนแยกมากขึ้นไปอีกคือวิธีใช้อีเมลและไอทีวันนี้  ลำพังบทนี้ท่านก็จะจัดการมือถือบนฝ่ามือให้อยู่หมัดได้แล้ว  มือถือมีหน้าที่รับใช้เรา  เราไม่ใช่ทาสของมือถือ  


ผมเขียนการ์ตูนช่องอ่านเองตั้งแต่จำความได้  เขียนไดอารีเล่าเรื่องราวของเพื่อนๆ และคุณครูทุกคนครั้งเรียนมัธยมและเรียนแพทย์ไว้สองเล่มใหญ่  ก่อนที่จะเริ่มเขียนบทวิจารณ์หนังอย่างจริงจังหลังจบแพทย์ แล้วเขียนบทวิจารณ์การ์ตูน บทความทางจิตวิทยา  บทความด้านพัฒนาการเด็ก และบทวิพากษ์สังคมหลังจากทำงานแล้วประมาณสิบปี   ก่อนที่จะเขียนเพจวิชาการการเลี้ยงลูกหลังเกษียณอายุราชการนี้เอง  ประเด็นคือเรามิได้จำเป็นต้องอ่านมากพอก่อนที่จะเขียน เราสามารถอ่านไปเขียนไปได้จริงๆ ตามที่หนังสือเล่มนี้บอกเรา   อะไรที่ไม่เข้าท่าเราโยนทิ้งได้เสมอดังที่ผมโยนการ์ตูนช่องและไดอะรีทิ้งไปหมดแล้ว  นั่นคือยุคก่อนอินเทอร์เน็ต


ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกเราว่า ก่อนจะ INPUT เราคิดเรื่อง OUTPUT ล่วงหน้าเลยจะดีที่สุด  นั่นแปลว่าก่อนจะอ่านหนังสือสักเล่ม ดูหนังสักเรื่อง เรากำหนดก่อนได้เลยว่าจะเขียนอะไร  มิใช่แค่ว่าจะเขียนอะไรสักอย่าง  แต่จะเขียนอะไร ในทำนองเดียวกันก่อนเข้าห้องประชุมใดๆ  เรากำหนดก่อนได้เลยว่าประชุมเสร็จเราต้องได้อะไร  ไม่ใช่คงจะได้อะไรสักอย่าง แต่ว่าต้องได้อะไร – อย่างชัดเจน


สมมติว่าไม่ได้ล่ะ? คำตอบคือเราจะได้เรื่องที่ควรจะเป็นอยู่ดี  ยกตัวอย่างการประชุมราชการที่หลายท่านคงมีประสบการณ์เช่นเดียวกับผมว่าบ่อยครั้งเราไม่ได้อะไร  แต่ถ้าเราตั้งธงไว้ก่อนว่าเมื่อปิดประชุมเราจะได้ระเบียบปฏิบัติใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษารวดเร็วกว่าเดิมและดีกว่าเดิม  ต่อให้ที่ประชุมนั้นจะจบแบบเดิมๆ  แต่ที่เปลี่ยนไปคือตัวเราเอง   มี INPUT และ OUTPUT เกิดขึ้นพร้อมกัน


ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยวิธีนี้นะครับ  ตั้งเป้าไว้ก่อนเลยว่าอ่านจบจะได้อะไร  รับรองว่าอ่านไปสิบหน้าก็ได้แล้ว