0

คำนิยม
2022-02-22 11:29:05
คำนิยม The Power of Output ศิลปะของการปล่อยของ โดย ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง
ตอนที่สำนักพิมพ์ส่งต้นฉบับมาให้ผมครั้งแรกนั้น ผมเองซึ่งก็คิดภาระกิจต่างๆ ประกอบกับ หนังสือหลายเล่มของตัวเองก็ยังค้างอ่านอยู่ เลยไม่ได้นำต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้มาอ่านเสียทีจนเวลาผ่าน...
Share

ตอนที่สำนักพิมพ์ส่งต้นฉบับมาให้ผมครั้งแรกนั้น ผมเองซึ่งก็คิดภาระกิจต่างๆ ประกอบกับ หนังสือหลายเล่มของตัวเองก็ยังค้างอ่านอยู่ เลยไม่ได้นำต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้มาอ่านเสียที

จนเวลาผ่านมาหลายเดือน ผมถึงได้มีโอกาสนั่งอ่านต้นฉบับนี้แบบจริงๆ จังๆ แล้วพบว่า 

“ทำไม ผมไม่ยอมอ่านมันก่อนหน้านี้ล่ะ?”

ด้วยการที่ผมถูกขึ้นชื่อว่าเป็นนักอ่านหนังสือตัวยงและขยันรีวิวในเพจ nuttaputch.com อยู่เรื่อยๆ นั้น หนังสือแนว How-To / Self-Help เป็นหนึ่งในกลุ่มหนังสือที่ผมอ่านบ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง 

แต่ส่วนใหญ่จะมาจากฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นการตีพิมพ์ด้วยต้นฉบับเลย อย่างไรก็ตาม ลึกๆ แล้วผมรู้สึกสนใจและอยากติดตามมุมมองจากฝั่งตะวันออกอย่างประเทศ ญี่ปุ่นเสียมากกว่า ด้วยเสน่ห์และค่านิยมหลายๆ อย่างที่ผมว่ามันมีเอกลักษณ์และน่าเรียนรู้อย่างมาก

หนังสือ OUTPUT เป็นหนึ่งในหนังสือแปลจากฝั่งญี่ปุ่นที่ทำให้ผมได้พบเรื่องราวน่าสนใจหลาย ทั้งในเรื่องมุมมองการใช้ชีวิต การเรียนรู้ การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งทั้งหมดนี้นำไป สู่การ “พัฒนา” เพื่อให้เราดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม

ความสนุกของการอ่านหนังสือเล่มนี้ที่ต่างไปจากหนังสืออื่นๆ คือวิถีการเล่าสไตล์แบบญี่ปุ่น ที่ดู เรียบง่าย ภาษาไม่เยิ่นเย้อ แต่แฝงด้วยความคิดและข้อมูลที่แน่น ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้นั้นกลายเป็นประโยชน์มากมายกับผู้อ่านที่จะเลือกหยิบใช้ไป “พัฒนา” ต่อในแบบของตัวเอง

ผมหวังว่าคุณจะสนุกกับอ่านหนังสือเล่มนี้แบบที่ผมได้อ่านไป และหวังว่าคุณจะได้ OUTPUT ใหม่ให้กับชีวิตของคุณต่อจากนี้เช่นกัน

รีวิวจากบล็อก NOPADOL’S STORY

https://nopadolstory.com/book-review/the-power-of-output-2/


ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ The Power of Output


หนังสือเล่มนี้แต่งโดยคุณชิออน คาบาซาวะ ซึ่งเป็นจิตแพทย์ โดยในหนังสือมีข้อคิดหลายประการ ที่จะทำให้เราสามารถผลิต Output ออกมาได้จำนวนมาก โดยที่ไม่ได้ใช้เวลาอะไรมากมาย

เราเคยลองสังเกตตัวเองกันไหมครับว่า หลายครั้งเราไปเน้นที่ Input ซะเยอะ เช่นอยากอ่านหนังสือมาก ๆ อยากเรียน Course เยอะ ๆ แต่อ่านไปแล้ว เรียนไปแล้ว ชีวิตก็ไม่เห็นจะดีขึ้นเท่าไร

เหตุผลประการหนึ่งคือเราอ่าน เราเรียน แต่เราไม่ได้นำมาใช้ไงครับ เราไม่ได้นำมาสร้าง Output

หนังสือเล่มนี้แนะนำการสร้าง Output 3 ประเภท ได้แก่ 1) การพูด 2) การเขียน และ 3) การลงมือทำ


ในหนังสือจะเริ่มจากกฎพื้นฐานของ Output 4 ข้อได้แก่

1) ข้อมูลที่นำมาใช้ 3 ครั้ง ภายในเวลา 2 สัปดาห์จะกลายเป็นความจำระยะยาว

2) ทำ Input และ Output สลับวนไป จะกลายเป็นกฎบันไดวนแห่งการพัฒนา

3) อัตราส่วนที่ดีที่สุดของ Input และ Output คือ 3:7

4) พิจารณาผลของ Output แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในครั้งต่อไป


แล้วการสร้าง Output ดีอย่างไร ในหนังสือบอกว่ามันจะช่วย 1) สร้างความจำ 2) เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 3) เปลี่ยนแปลงโลกในความเป็นจริง 4) ได้พัฒนาตนเอง 5) สนุก และ 6) เกิดผลสำเร็จอย่างชัดเจน

ในหนังสือได้แนะนำเทคนิคเกี่ยวกับการพูด การเขียน และ การลงมือทำไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยในบทเกี่ยวกับการพูดก็จะมีการกล่าวถึง เทคนิคการพูด สื่อสาร ทักทาย ตั้งคำถาม ขอร้อง ปฏิเสธ นำเสนอ ถกเถียง ปรึกษา ผูกมิตร ชมเชย ดุ ขอโทษ อธิบาย เปิดเผย แนะนำตัว ขาย ขอบคุณ หรือแม้กระทั่งการโทรศัพท์ เรียกว่าครบเครื่องเรื่องการพูดเลยล่ะครับ

ในบทของการเขียน ก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคการเขียนต่าง ๆ การเขียนด้วยมือ วาดรูป เขียนบทความ จด Note หา Idea เขียนใส่การ์ด ทำ Slide เขียน White Board อ้างอิงข้อมูล สรุปความ ตั้งเป้าหมาย เขียนใบเสนอแผนงาน วาดแผนผัง ส่ง Email รวมถึงสร้างความสนุกกับการเขียน

ใน Output อันสุดท้าย คือการลงมือทำ จะกล่าวถึงเรื่องการทำอย่างต่อเนื่อง การสอน การจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การท้าทายตัวเอง การเริ่มลงมือ ทดลองทำ ตัดสินใจ แสดงความรู้สึก ทำให้จบ ความเป็นผู้นำ หรือแม้กระทั่งการยิ้ม ร้องไห้ ควบคุมอารมณ์โกรธ การนอน ออกกำลังกาย จัดการความเสี่ยง และการบริหารเวลา


ส่วนท้ายของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง วิธีฝึก 7 วิธีในการทำ Output ได้แก่ 1) เขียนบันทึกประจำวัน 2) จดบันทึกเกี่ยวกับสุขภาพ ได้แก่ น้ำหนัก ความรู้สึก ชั่วโมงนอน 3) เขียนรีวิวหนังสือ 4) เผยแพร่ข้อมูล 5) เขียนลง Social Media 6) เขียน Blog และ 7) เขียนเกี่ยวกับงานอดิเรก

ผมว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่น่าสนใจมาก ๆ เล่มหนึ่งทีเดียวเลยครับ ลองหาอ่านกันได้นะครับ


เพจ อยากเล่า The Storyteller

https://www.facebook.com/storyteller.the/photos/a.101041945301232/101040368634723/


หนังสือเล่มแรกที่เราอยากเล่า คือ หนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราเริ่มสรุปหนังสือ เพราะว่าเราเป็นคนอ่านเร็วมาก แต่สุดท้ายจำได้ไม่เยอะเลย และขอขอบคุณคุณแฟน ที่แนะนำให้เราทำเพจดูด้วยค่า บอกว่าไหนๆสรุปแล้วก็ทำเพจสิ 555


หนังสือเล่มนั้นคือ the power of output  หรือจะขึ้นปกตัวใหญ่ๆว่า OUTPUT ของคุณ ซิออน คาบาซาวะ มีชื่อไทยว่า “ศิลปะของการปล่อยของ” คือ มีของต้องปล่อย เก่งก็ต้องแสดงออก ซึ่งเน้นการ output 3 แบบคือ พูด เขียน ทำ หนังสืออ่านง่ายเข้าใจง่ายตามแบบฉบับหนังสือญี่ปุ่นค่ะ หนังสือแบ่งเป็นบทใหญ่ 5 บท คือ กฎพื้นฐาน การพูด การเขียน การทำ และ training จะมีบทย่อย บทละ 2-4 หน้า มีภาพประกอบทำให้อ่านง่าย


ใจความสำคัญของหนังสือ 

• กฎพื้นฐาน คือ เราต้อง input : output = 3 : 7 การ output หรือปล่อยของออกมา จะเกิดการพัฒนาตนเองที่ดีที่สุด เห็นได้จากตอนสอบเอนทรานซ์ที่เราทำแบบฝึกหัด เราจะได้คะแนนดีกว่าการอ่านหนังสืออย่างเดียวโดยไม่ทำแบบฝึกหัด การ output ยิ่งขยับมากก็ยิ่งจำ การเขียนช่วยจำดีกว่าอ่านอย่างเดียว

• การพูด การพูดแต่สิ่งดีทำให้ชีวิตเราดีไปด้วย เวลาพูดเรื่องเครียดร่างกายจะหลั่ง cortisol ทำให้เครียด

• การชมเชยคนอื่นเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง หากการเขียนจะทำให้อ่านได้หลายครั้งและสร้างความประทับใจได้ทุกครั้งที่อ่าน เวลาชมลูกน้องใช้วิธีนี้ก็ได้นะ

• สำหรับการประชุม การพูดโดยมีรูปภาพประกอบทำให้น่าสนใจขึ้นมาก และการถกเถียงเรื่องเล็กๆกันเพื่อให้กล้าแสดงความเห็นควรฝึกไว้เพื่อเป็นพื้นฐานไว้ในการถกเถียงเรื่องใหญ่ๆในที่ทำงานเราจะได้ไม่ผิดใจกัน

• การเขียนช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง (RAS : reticular activation system) แม้กระทั่งการวาดรูปเล่นระหว่างเรียนก็กระตุ้นสมองได้เช่นกัน นอกจากนี้การเขียนยังช่วยจัดระเบียบให้สมองไม่รก พร้อมรองรับการทำงานใหม่ๆ เพราะสมองของเรา RAM น้อยแต่ harddisk ใหญ่นั่นเอง การเขียน to do list เป็นสิ่งที่ดี

• การเหม่อลอย = Flow stage คือช่วงที่สมองมีการปล่อยความคิดออกมามาก หากคิดได้ต้องรีบจดทันที อาจจะจดเป็นคำหรือประโยคสั้นๆ แล้วค่อยนำมารวบรวมความคิดอีกทีก็ได้ 

• ฝึกการเขียนในที่จำกัด เช่น twitter 140 ตัวอักษร ทำให้เราสรุปความเก่งขึ้น

• เขียนแผนใหญ่คร่าวๆก่อนสัก 30% แนะนำให้ทำในกระดาษ และค่อยเพิ่มรายละเอียดเล็กๆน้อยๆจนครบ 100% จะทำงานได้เร็วขึ้น 

• ควรลงมือทำในสิ่งที่ยากนิดๆไม่ทำให้เราท้อใจแล้วค่อยเพิ่มลำดับขึ้นไปเรื่อยๆ หลักการคือต้องยากกว่าที่เคยทำ แต่ไม่ยากจนทำไม่ได้ 

• การสอนคนอื่นเป็นการทำ output ที่ดีที่สุดเลย เราไม่มีโอกาสได้สอนเลยมาทำเพจนี้จ้า

เพจ หลังอ่าน

https://www.facebook.com/Langarnbooksreview/posts/3711423162310588


100 เล่มควรอ่านก่อน 30 เล่มที่ 12: The Power of Output

ศิลปะของการปล่อยของ 


‘คนที่อ่านหนังสือได้เดือนละ 10 เล่ม แต่ไม่มีผลงานเขียนออกมาเลย กับคนที่อ่านหนังสือได้เดือนละ 2 เล่ม แต่เขียนออกมาได้ 1 เล่ม คนไหนจะพัฒนาไปได้มากกว่ากัน’

คำตอบก็คือคนหลังที่พัฒนาได้มากกว่า เพราะการป้อน input เพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ช่วยให้เราพัฒนาไปได้ไกลอย่างที่คิด หากแต่เป็นการสร้าง output ออกมามากกว่าที่ขัดเกลาการคิดและทำให้เราก้าวหน้าได้มากขึ้น

ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่แค่การเปรียบเทียบแบบสนุกๆ แต่มีผลการวิจัยทางจิตวิทยารองรับอย่างแน่นหนา เพราะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการทำงานของสมองอย่าง อาจารย์ ชิออน คาบาซาวะ เจ้าของผลงานหนังสือเทคนิคจำแบบไม่ต้องจำ และเทคนิคอ่านให้ไม่ลืม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือขายดีทั้งสิ้น

ต้องบอกว่าตอนแรกผมยังตกใจว่าหนังสือเล่มนี้มาจากญี่ปุ่น เพราะหนังสือแปลญี่ปุ่นหลายๆเล่มจะเน้นเป็นการแชร์ประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนมากกว่า แต่เล่มนี้ไม่ใช่ หนังสือ output คือการประสานเทคนิคการสร้าง output จากทั้งความรู้ทางจิตวิทยาศาสตร์ รวมกับประสบการณ์ที่กลั่นกรองยจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน และเรียบเรียงออกมาเป็นข้อๆ แบ่งเป็นหมวดหมู่ อ่านง่าย เข้าใจง่าย เอาไปใช้ได้จริง

แม้ตอนแรกผมจะแปลกใจในความดังของหนังสือ ที่ได้ชื่อว่าดังมากระดับหนึ่งเลย เคียงคู่กับ Atomic Habits (โดยเฉพาะในกรุ๊ปหนังสือควรอ่านก่อน 30) แต่ต้องบอกเลยว่าอ่านแล้วไม่ผิดหวัง หนังสือดีจริงๆ ในเทคนิคการสร้าง Output 80 ข้อที่หนังสือให้ได้ ทั้งแปลกใหม่ น่าสนใจ และน่าเชื่อถือ ผมให้ไปเต็มๆ 9 คะแนนเท่า Atomic Habits เลย

นอกจากนี้ยังมีแผนผัง และรูปการ์ตูนสามสีในหนังสือ ที่ช่วยให้จำง่าย เข้าใจง่ายอีกด้วย ถึงหนังสือจะหนาแต่อ่านไม่น่าเบื่อ เพลินๆจบ

ส่วนในรีวิวนี้ขอเล่าสั้นๆ เกี่ยวกับคำว่า Output และกฎพื้นฐาน 4 ข้อของ Output นะครับ ส่วนเทคนิค 80 ข้อในการสร้าง Output ผมจะเลือกข้อที่น่าสนใจและเอามาใส่ในอีกรีวิวหนึ่งนะครับ (โปรดติดตาม!)

Output คืออะไร? ตอบสั้นๆ มันก็คือการแสดงผลจากการประมวลผมข้อมูลที่เราป้อนเข้าไปในสมอง หรือ Input นั่นเอง

เพราฉะนั้นแล้ว Input ทำให้โลกในสมองเราเปลี่ยนไป แต่ไม่ได้เปลี่ยนโลกความจริง  Output ต่างหากที่ทำให้โลกความเป็นจริงเปลี่ยนไป

เพราฉะนั้นบางคนจะทำการป้อน Input ต่างๆมากมายเข้าไปในสมอง แต่ไม่เคยสร้าง Output ออกมาเลย การพัฒนาตัวเองของเขาก็คงจะไม่ค่อยได้ผล เหมือนคนที่เอาแต่อ่านหนังสือ จะเดือนละ 10 เล่ม เดือนละ 20 เล่มก็ตาม แต่ถ้าไม่เคยเขียนรีวิว ไม่เคยเขียนผลงานอะไรออกมาเลย เขาก็คงจะพัฒนาตัวเองไปได้ไม่มากเท่าไหร่นัก 


เรื่องนี้ยังอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาตร์ว่าด้วยเรื่องของการขยับกล้ามเนื้อ เมื่อเราทำ Output ออกมา ไม่ว่าจะเป็นทางการพูด เขียน หรือลงมือปฏบิตอะไรก็ตาม กล้ามเนื้อเราจะจดจำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น และช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้นมาก ต่างจากการที่เราเพียงแค่ท่องจำ จำ จำ อย่างเดียว


กฎพื้นฐาน 3 ข้อของ Output 

1) ข้อมูลที่นำมาใช้ 3 ครั้ง ในเวลา 2 สัปดาห์ จะกลายเป็นความจำระยะยาว 

เพราะสมองของเราจะคิดว่านั่นคือข้อมูลสำคัญ ส่วนข้อมูลที่เราจำไว้ แต่ไม่ได้นำออกมาใช้เลย สมองก็จะจัดอยู่ในประเภทข้อมูลไม่สำคัญ และทำให้เราหลงลืมไปได้ง่าย

2) วงจรของการแสดงออกและการป้อนข้อมูลคือ ‘บันไดวนของการพัฒนา’ 

พูดง่ายๆว่าการป้อนข้อมูลเข้าไป และการสร้าง output ออกมาควรจะทำสลับไปมาเรื่อยๆ เพราะมันคือแก่นของการผลิตกิจกรรมทางปัญญา

3) อัตราส่วนที่ดีที่สุดของ Input และ Output คือ 3 : 7 

นั่นหมายความว่าเราควรจะใช้เวลาในการท่องจำข้อมูลใหม่ๆ 30% และใช้เวลาอีก 70% ในการเขียน การแสดงผลออกมา เรื่องนีได้รับการรับรองจากการทดลองการทำข้อสอบมหาวิทยาลัยของนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่มีวิธีในการเตรียมสอบที่แตกต่างกัน นั่นคือใช้เวลาในการอ่านตำราเรียน (input) และการทำแบบฝึกหัด (output) ต่างกัน ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ คนที่ทำผลการเรียนออกมาได้ดีที่สุดคือ คนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำแบบฝึกหัด ไม่ใช่การท่องตำราเรียน

4) พิจารณาผลของ Output แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในครั้งต่อไป

สั้นๆง่ายคือ การทำ feedback ดูว่าตรงไหนที่เราทำผิดพลาดไป ตรงไหนที่เรายังต้องปรับปรุงแก้ไข แล้วเอามาเป็น  feedback ในการเข้าไปแก้บันไดวนแห่ง input-output เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป 

หนังสือยังแนะนำวิธีสร้าง feedback ที่ดีนั่นก็คือ 1. แก้ไขข้อด้อย พัฒนาข้อดี 2. ขยายให้กว้างและเจาะให้ลึก 3. ไขข้อสงสัยว่า ‘ทำไม’ 4. ให้คนอื่นแนะนำ


สุดท้ายขอปิดท้ายรีวิวนี้ด้วย ข้อดี 6 ประการของการสร้าง Output ที่ผู้เขียนทิ้งไวในบทแรก 

1. สร้างความจำ - อย่าลืมเรื่องข้อมูลที่สำคัญ - ไม่สำคัญ

2. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ขยับกล้ามเนื้อกันหน่อย

3. เปลี่ยนแปลงโลกในความเป็นจริง

4. ได้พัฒนาตัวเอง

5. สนุก!

6. เกิดผลสำเร็จอย่างชัดเจน 


ส่วนเนื้อหาหลักของหนังสือก็คือ เทคนิคการสร้าง output กว่า 80 ข้อ ซึ่งรวมถึงเรื่อง การพูด การเขียน การลงมือทำ และยังมี 7 วิธีที่เอาไว้ใช้ฝึกสร้าง output สำหรับมือสมัครเล่นอย่างพวกเรากันอีกด้วย


ยังไงโปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ!! เดี๋ยวผมจะหยิบเนื้อหามารีวิวกันต่อ