อ่านหนังสือเล่มนี้ให้เหมือนอ่านหนังสือ The Call of the Wild ของแจ็ก ลอนดอน ครับ คืออ่านไปเรื่อยๆ ถ้าจะเก็บเกี่ยวอะไรได้ให้ขีดเส้นใต้ไว้ ถ้าจะไม่ขีดเส้นใต้อะไรก็อ่านไปเรื่อยๆ แล้วจะได้เอง ได้อะไร ได้คำอธิบายว่าเพราะอะไรเราควรจัดการศึกษาแก่ลูกของเราด้วยตนเอง
อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธว่าไม่มีเงินหรือไม่มีเวลา ความเข้าใจผิดเรื่องเงินและเวลามีเขียนเอาไว้แล้วในหนังสือ ไม่นับว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มิได้เรียกร้องว่าเราจำเป็นต้องทำโฮมสคูลเต็มรูปแบบ แต่เป็นเหมือนที่ผมพยายามบอกเสมอว่าเราปล่อยเรื่องทั้งหมดไว้กับโรงเรียนมิได้ หากกล่าวจำเพาะเจาะจงบริบทบ้านเราก็ยิ่งไม่สมควรทำไปจนถึงทำไม่ได้ ไม่มากก็น้อยเราต้องลุกขึ้นทำบางสิ่งด้วยตัวเอง
ทำบางสิ่งนั้นคืออะไร คุณพ่อคุณแม่มีสองวิธีให้เลือก คือหนึ่ง ขีดเส้นใต้ข้อความสำคัญในหนังสือเล่มนี้แล้วทำ หรือสองอ่านจนกว่าจะได้ไอเดียเองว่าเราควรทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ขึ้นกับความถนัดของท่านเอง อันที่จริงผมขีดเส้นใต้ข้อความสำคัญไว้หลายที่ ดีๆทั้งนั้นเลย แต่รู้สึกเป็นการไม่สมควรที่จะบอกกล่าวทั้งหมดด้วยอาจจะผิดวัตถุประสงค์ของผู้เขียนเล่มนี้
ผมเดาว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ต้องการให้เราอ่านจนกระทั่งคิดออกเองว่าควรทำอย่างไร และที่สำคัญคือขอให้เชื่อมั่นในสัญชาตญาณความเป็นแม่ของตนเอง เรื่องนี้ผมเขียนหลายครั้งเช่นกัน อดีตไม่เคยมีจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยาเด็ก พ่อแม่แต่โบราณเลี้ยงลูกด้วยสัญชาตญาณมานานสามหมื่นปีตั้งแต่ครั้งเป็นมนุษย์ถ้ำ เพราะอะไรวันนี้เราจึงไม่เชื่อมั่นในสัญชาตญาณความเป็นพ่อแม่มากเพียงนี้ หนังสือเล่มนี้เขียนถึงสัญชาตญาณพ่อแม่หลายตำแหน่งมาก
เราทำสัญชาตญาณพ่อแม่หายไปเพราะเรามากไป เรามากไปเพราะสังคมคาดหวังและกดดันเรามากไป เราจึงเผลอกดดันลูกของเรามากไป ผลลัพธ์ที่ได้คือเด็กจำนวนมากออกนอกเส้นทางพัฒนาการปกติ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางจิตวิทยาหรือพัฒนาการด้านการเรียนรู้ พูดให้ชัดๆ คือพัฒนาการด้านการศึกษา เหล่านี้ล้วนติดขัด ถดถอย หรือเฉไฉออกนอกเส้นทางไปเสียทั้งหมด ที่ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ call คือ call for the wild ดึงธรรมชาติของทุกคนคืนมาให้ได้
คือธรรมชาติของพ่อแม่ที่จะรู้เองว่าควรทำอะไรและอย่างไรในสถานการณ์ใด
ที่สำคัญคือธรรมชาติของลูกๆ เองที่รู้ว่าตนมีวิธีเรียนรู้สรรพสิ่งอย่างไร ด้วยจังหวะก้าวอย่างไร และด้วยวิธีไหน
หนังสือเล่มนี้ได้บอกเราถึงเรื่องหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือ เมื่อเริ่มต้นทำโฮมสคูลแล้วเราจะยังไม่มั่นใจจนแล้วจนรอดว่าที่ทำอยู่ดีพอหรือยัง ความไม่แน่ใจ ความกังวล ความสับสนว่าอะไรใช่อะไรไม่ใช่จะยังคงมีอยู่ตลอดการเดินทาง ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จะให้คำยืนยันและให้กำลังใจแก่เราเสมอว่านี่เป็นธรรมชาติของการเรียนรู้ โฮมสคูลเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของเราและลูกๆ เท่าๆ กับการเรียนรู้ของลูกๆไปพร้อมๆกัน
หลายบ้านเตรียมพร้อมทฤษฎีโฮมสคูลมาอย่างดีก่อนจะพบว่าใช้ไม่ได้เลย อะไรๆ มิได้เป็นไปตามทฤษฎีหรือคู่มืออย่างง่ายๆ ตรงนี้อธิบายได้ว่าคู่มือโฮมสคูลมิใช่คู่มือมาตรฐานตามแบบฉบับการศึกษาในกรอบดั้งเดิม คู่มือโฮมสคูลใดๆ ทำได้เพียงจุดชนวน ช่วยวางโครงร่างคร่าวๆ ให้เริ่มต้น แต่หลังจากเริ่มต้นไปได้ไม่นาน หลายครั้งที่ลูกๆจะจูงเราเดินตามไปเอง ไปไหน คำตอบคือไปเรียนรู้ร่วมกัน
มีตัวอย่างตลกๆ ในหนังสือเล่มนี้หลายที่ มีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษคือเรื่องที่พ่อแม่เตรียมบทเรียนกลางแจ้งเรื่องการบินและแอโรไดนามิกส์มาอย่างดี เด็กๆ ก็ให้ความร่วมมือกันเต็มที่ ทันใดนั้นเด็กคนหนึ่งก็โวยวายออกมาด้วยความตื่นเต้นเมื่อพบงู หลังจากนั้นการเรียนรู้เปลี่ยนทิศไปเป็นการสำรวจและเจาะลึกเรื่องงูกันเฉย
เมื่อเด็กๆ เรียนรู้จากโฮมสคูล การประเมินการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการฟัง ฟังเขาเล่าว่าเขารู้อะไร อย่างไร และรู้สึกนึกคิดอย่างไร ด้วยวิธีนี้เด็กจะได้ฝึกทักษะการสื่อสาร (communication skill) อย่างเป็นธรรมชาติ เขาอาจจะไม่คล่องในตอนแรกๆ แต่เขาจะเชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ และมากกว่าเด็กๆ ในการศึกษาตามระบบที่ถูกประเมินด้วยข้อสอบมากเสียจนบางครั้งเรารู้สึกว่าจะได้เท่าที่สอบ
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เล่าในตอนกลางเล่มว่า ลูกห้าคนของเธอจะง่วนอยู่กับงานที่ตนเองสนใจและต่อยอดการเรียนรู้ที่มุมของตน โดยอธิบายว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเรียนรู้เป็นรางวัลในตัวของมันเอง มิใช่ความเข้มงวดหรือรางวัลล่อใจใดๆ ที่การศึกษาในระบบมักมอบให้ อย่างไรก็ตาม ลักษณะนิสัยอย่างที่เห็นมิได้เกิดจากการให้เสรีภาพแล้วทุกอย่างจะดีเอง นอกเหนือจากการให้โอกาสเขาได้พูดหรือแสดงออกแล้วการเตรียมความพร้อมวัยเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญ เขาจะมิใช่แค่ทำงาน แต่จะทำงานหนักได้ด้วย
การทำงานหนักได้มาจากการเล่นให้หนัก ที่แท้แล้วการเล่น การทำงาน และการศึกษาเป็นเรื่องเดียวกันและเกิดพร้อมกันได้ เป็นโรงเรียนเองที่แยกสามเรื่องนี้ออกจากกันและเข้มงวดให้เด็กอยู่ในแต่ละช่องโดยไม่ก้าวก่ายกัน แม้แต่เรื่องเล่นที่ควรมีเสรีก็ยังมีกฎระเบียบที่ชัดเจนว่าเล่นได้กี่โมงหรือเครื่องเล่นอะไรต้องใช้อย่างไร การเตรียมความพร้อมที่ดีจึงเป็นการเล่นและการทำงานที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียวกับการเรียนรู้
อย่าสับสนระหว่างการเรียนมหาวิทยาลัยและการเรียนอุดมศึกษา เด็กโฮมสคูลจะเป็นผู้มีความสามารถที่จะจัดสรรเวลาแห่งการเรียนรู้ของตนเองตามจังหวะก้าวและความสนใจของตนเอง นั่นเท่ากับเขารู้ดีว่าเขาอาจจะต้องทำตามกติกาของการศึกษาบางประการ แต่ก็จะไม่หลงทางไปกับเรื่องที่เขาประเมินแล้วว่าไม่ตรงประเด็นหรือเสียเวลามากเกินควร เรื่องที่พ่อแม่ส่วนใหญ่กังวลอนาคตของเด็กโฮมสคูลจะเข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างไรเป็นเรื่องเข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม เด็กเหล่านี้มิได้เรียนไปเพื่อเอาปริญญาจริงๆพวกเขาเรียนไปเพื่อการใช้ชีวิตและถ้าเขาพบว่าใบปริญญาใบหนึ่งสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตที่เขาต้องการ เขาก็พร้อมจะทำตามกติกาและทำได้อย่างดีที่สุด
เด็กโฮมสคูลจะเข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้ให้ตัวเลขของเด็กโฮมสคูลที่เข้ามหาวิทยาลัยได้และทัศนคติของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ต้องการเด็กที่แตกต่าง เด็กโฮมสคูลจะไม่มีผลการเรียนและไม่มีใบประกาศนียบัตร ดังนั้นการบันทึกผลงานออนไลน์ไว้อย่างสม่ำเสมอและฝังไว้บนโลกออนไลน์ให้แน่นหนาเป็นเรื่องควรศึกษา ลูกอาจจะไม่ได้ใบเกรดการทำแอนิเมชั่น แต่เขามีผลงานแอนิเมชั่นนับร้อยเรื่อง เขาอาจจะไม่มีใบเกรดวิชาภาษาอังกฤษ แต่เขาเขียนนวนิยายเอาไว้หลายเล่ม เหล่านี้คือแฟ้มผลงานที่เด็กโฮมสคูลเองจะถูกฝึกให้ใส่ใจ แต่ก็ไม่ไปขัดขวางวิถีทางแห่งการเรียนรู้ที่พุ่งไป
เมื่อถึงครึ่งเล่มผู้เขียนจะได้ทบทวนชนิดของโฮมสคูลแบบต่างๆ ได้แก่ แบบคลาสสิก มอนเตสซอรี วอร์ลดอร์ฟ และอื่นๆ รวมทั้ง unschooling (เลิกเรียน)เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทบทวนปรัชญาการศึกษาเหล่านี้อย่างกระชับและใช้เวลาไม่มากนัก อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ลืมจะเขียนถึงเรื่อง “จังหวะ” ตามมาด้วย โดยเน้นย้ำว่าจังหวะมิใช่ตารางปฏิบัติงาน และเมื่อนับรวมจังหวะของสมาชิกในบ้านแต่ละคนเข้าด้วยกันแล้วที่แท้จังหวะคืออะไร
หากลูกคนหนึ่งตื่นเช้าแล้วอีกคนหนึ่งตื่นสาย บ้านเรียนควรมีจังหวะอย่างไร ไม่นับว่าหากมีใครบางคนเจ็บป่วยร้ายแรงเราควรมองเรื่องจังหวะเป็นอย่างไรแล้วจัดการต่ออย่างไร ทั้งนี้โดยไม่ลืมที่จะตอกย้ำว่าหนังสือทั้งเล่มกำลังพูดเรื่อง “ความสัมพันธ์” กล่าวคือ โฮมสคูลวางอยู่บนฐานความสัมพันธ์ นั่นคือจังหวะก็จะวางอยู่บนความสัมพันธ์ด้วย
ตัวอย่างที่ดีมากคือเรื่องการเล่นโยนลูกบอลไปมาระหว่างพ่อ-ลูก การประสานสายตาและรอยยิ้มนั่นคือจังหวะของความสัมพันธ์ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการมองโลกและทำงานในระดับสายตาของลูก ผมมีคำกล่าวส่วนตัวเสมอว่าการเล่นที่ดีคือลงไปเล่นที่พื้นกับลูกๆ
พ้นจากนี้จึงเป็นเรื่องวัฒนธรรม และวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดคือเรื่องวัฒนธรรมความปลอดภัยทางอารมณ์ กล่าวคือบ้านเป็นพื้นที่ที่ลูกสามารถแสดงความรู้สึกและอารมณ์ได้โดยไม่ถูกตำหนิหรือทำโทษ ลูกสามารถผิดพลาดได้ ในทำนองเดียวกันพ่อแม่ก็สามารถผิดพลาดได้ด้วย และทุกคนรวมทั้งพ่อแม่สามารถขอโทษได้
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วหลายท่านอาจจะขนลุกกับเรื่องพูดช้า บวกเลขไม่ได้ ไม่กำหนดกติกา แล้วทั้งหมดนี้เป็นเรื่องรอได้ คำถามที่สังคมจะถามพวกเราคือให้รอถึงเมื่อไร และถ้าสมมติว่ารอจนสายเกินไปใครจะรับผิดชอบ พอถึงใครจะรับผิดชอบเท่านั้นแหละพ่อแม่ทุกบ้านย่อมยกธงขาวไม่ไปต่อ คำถามเหล่านี้มาจากการแพทย์แผนปัจจุบัน การศึกษายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐาน”
พูดง่ายๆว่า เด็กๆ ต้องมี “มาตรฐาน” และถ้าตกมาตรฐานย่อมเป็น “สินค้าชำรุด”
ประเด็นสำคัญคือแม้ลูกของเราจะเป็นสินค้าชำรุดเราก็จะยังรักเขาแบบที่เขาเป็น และเพียงแค่เรายังคงรักเขาแบบที่เขาเป็น เพียงเท่านั้นพัฒนาการจะไม่หยุดแล้วเดินต่อไป นี่คือเรื่องสำคัญที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบเล่ม
เป็นหนังสือที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย อาจจะไม่เป็นที่พึงใจของท่านที่ต้องการความกระจ่างชัดเป็นข้อๆ อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะผู้เขียนเขียนด้วยการพรรณนาและสร้างความคิดคำนึงมากกว่าการฟันธงว่าโฮมสคูลต้องทำอย่างไร แต่เชื่อได้ว่าหากเราอ่านอย่างตั้งใจเราจะได้ภาพใหญ่ของการทำโฮมสคูล ส่วนเมื่อได้แล้วจะทำอะไรหรืออย่างไรต่อไป การตัดสินใจจะกลับมาที่คุณพ่อคุณแม่เสมอ
ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าแต่ละบ้านมีจังหวะที่ต่างกัน