0

คำนิยม
2023-12-25 17:20:04
คู่มือฝึกวินัยสมองสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น - คำนิยมโดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ -
การเลี้ยงลูกมีเวลาวิกฤต (คือ critical period เวลาที่หวนคืนมิได้) ... หากคุณพ่อคุณแม่ชะล่าใจมากไปก็อาจจะเสียใจภายหลังได้โดยไม่จำเป็น
Share
เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ อย่างหนึ่งที่ผมดีใจมากเหมือนเด็กๆ ดีใจคือ อะไรที่ผมพูดและเขียนตลอดเวลาเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา มีคนเขียนตรงกันหมดเลย ข้อแตกต่างคือหนังสือเล่มนี้เขียนละเอียดกว่ามาก ทั้งยังแบ่งหมวดหมู่ไว้ชัดเจน หากเราสงสัย อยากรู้ หรือเมื่อเลี้ยงลูกไปแล้วติดขัดที่ตรงไหน ก็กลับมาเปิดอ่านได้ทันที 

ไม่นับว่าระหว่างเลี้ยงไปหรือแม้กระทั่งบางขณะที่ลูกกำลังนั่งเล่นเดียวเพลินๆ อย่างใจจดใจจ่อ เราสามารถเปิดอ่านบทที่ว่าด้วยอายุเท่ากับลูกของเราตรงหน้าอ่านไปพลางๆ ได้ อ่านล้ำไปอีกนิดก็ได้จะได้รู้ทัน

อ่านย้อนหลังต่ำกว่าอายุลูกของเราได้ไหม คำตอบคือได้อย่างแน่นอน ขอเขียนไว้ตั้งแต่ตอนต้นๆ คำนิยมนี้เลยว่าแม้ท่านจะมีลูกวัยรุ่นแล้วและกำลังพบปัญหาคุยกับลูกวัยรุ่นไม่รู้เรื่อง ท่านสามารถเปิดหนังสือเล่มนี้อ่านตั้งแต่บทนำ จะพบว่าสมองของคนเราแบ่งเป็น 3 ส่วน แล้วลองคิดดูว่าลูกวัยรุ่นของเราอาจจะพร่องตรงไหน จากนั้นท่านอ่านใหม่ได้เลย อะไรที่ยังไม่ได้ทำหรือไม่เคยทำ อาจจะเพราะไม่รู้ หรือเพราะว่าไม่มีเวลา ท่านทำใหม่ได้แม้ว่าลูกจะโตแล้ว เหตุเพราะพัฒนาการเด็กมีธรรมชาติเป็นเช่นนี้เอง นั่นคือถ้าส่วนฐานพร่อง ส่วนบนย่อมขลุกขลักหรือติดขัด ไม่มีคำว่าสายเกินไปหากท่านจะอุดส่วนฐานใหม่แม้ว่าอาจจะไม่ง่ายเท่าทำให้ดีเสียตั้งแต่ตอนแรก 

เพราะอะไร เพราะสมองของคนเรามีความยืดหยุ่นสูงมาก เรียกว่า plasticity ท่านยังมีโอกาสซ่อมใหม่ได้ การซ่อมแซมย่อมยากกว่าการสร้างเสริม แต่ถ้ายังมีใจย่อมเอาชนะได้

เป็นหนังสือญี่ปุ่นเขียนตามแบบแผนคล้ายๆ ไมนด์แม็ปที่หนังสือญี่ปุ่นหลายเล่มชอบทำ ดังนั้นในแต่ละหน้าจึงมีการแตกรายละเอียดชวนให้ผู้ไม่สันทัดมึนงงอยู่บ้าง ผมขออนุญาตใช้เนื้อที่คำนิยมนี้ชี้จุดสำคัญของแต่ละส่วนไว้ให้ หากท่านจับหลักได้ จะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากมายในทุกโอกาส

เริ่มจาก Part 1 สมองคือบ้านสองชั้น ชั้นล่างคือ สมองร่างกาย กินเวลาขวบปีแรก ร่างกายแข็งแรงจึงเป็นฐานของความฉลาดและจิตใจที่แข็งแรง ชั้นสองคือ สมองฉลาด กินเวลาตั้งแต่อายุ 1-18 ปี คือช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้พัฒนาทุกด้าน เมื่อสมองร่างกายและสมองฉลาดพร้อมแล้ว จึงจะมีบันไดเป็นสมองส่วนที่สามเพื่อเชื่อมชั้นบนกับชั้นล่างเรียกว่า สมองจิตใจ ซึ่งกินความถึงความสามารถในการคิดเชิงนามธรรม ความเมตตากรุณา และอุดมคติด้วย อันมีลักษณะเป็นองค์รวม 

ถามว่าทำอย่างไรสมองร่างกายจึงจะดี คำตอบชัดๆ คือโภชนาการ ดังนั้นกรุณาตั้งใจอ่านบทโภชนาการ รวมทั้งประโยชน์ของวิธีใช้นิ้วหยิบอาหารด้วยว่าดีต่อสมองลูกมากเพียงใด จากนั้นคือการเล่น ซึ่งหนังสือจะบอกวิธีเล่นกับลูกตั้งแต่แรกเกิด แล้วเคลื่อนไปทีละ 6 เดือนและ 1 ปี อย่างละเอียด พูดง่ายๆ ว่าในโลกที่เราไม่ค่อยจะมีปู่ย่าตายายช่วยเท่าไรแล้ว คนรุ่นหลังสงครามโลกที่เล่นกับหลานด้วยมือเปล่าเป็นเริ่มร่อยหรอ พ่อแม่วันนี้เป็นพ่อแม่ยุคมิลเลนเนียมกันทุกคนและเริ่มไม่รู้วิธีเล่นมือเปล่ากับลููกจริงๆ แล้ว เปิดอ่านวิธีเล่นทีละช่วงอายุเลยครับ แล้วลอกไปเลยไม่ต้องอาย 

อย่ากังวลว่าจะไปไม่รอดเพราะแท้จริงแล้วเพียงท่านสตาร์ท ลูกๆ จะเล่นต่อเอง รับรองได้ 

ปิดท้ายการสร้างสมองฉลาดด้วยการสอนลูกทำงานบ้าน ดังที่ทราบว่าผมมักเขียนหนังสือสั้นที่สุดเพื่อมิให้คุณพ่อคุณแม่บ้านเรารู้สึกว่าอะไรๆ ก็ยาก หรือลึกลับซับซ้อนจนหมดแรงอันไม่ค่อยจะมีไปเสียก่อน ดังนั้นที่ผมเขียนเสมอคือ “อ่านไปเถอะ” และ “ทำงานไปเถอะ” โดยไม่แยกแยะให้ว่าเด็กอายุเท่าไรควรอ่านอะไรและทำงานบ้านแบบไหน หนังสือนี้มีคำตอบให้ครับ 

และทั้งหมดนี้คือวิธีสร้างสมองฉลาดอย่างเป็นธรรมชาติ

มีบางตัวเลขที่เป็นที่ถกเถียงกันมากในยุคสมัยใหม่ เหตุเพราะโลกวุ่นวายขึ้น พ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ฝ่าจราจรติดขัด หรือทำงานล่วงเวลาจนกระทั่งกลับบ้านค่ำมืดเกินกว่าจะเอาลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ คำถามคือเราควรให้ทารกและเด็กเล็กเข้านอนกี่โมง เพื่อส่งผลดีที่สุดต่อสมองร่างกายและสมองจิตใจ หนังสือนี้ดีที่เขียนชัดๆ ว่า 20.00 น.

คือเวลาที่ภรรยาและผมทำกับลูกสองคนเมื่อสามสิบปีก่อนแล้วผลลัพธ์ที่ได้ดีจริงๆ 

ภรรยาและผมไม่เพียงทำงานนอกบ้าน เราทำงานเป็นกะทั้งสองคนอีกด้วย แต่เพราะพอรู้ว่าทารกและเด็กเล็กควรเข้านอนไม่เกินสองทุ่ม เราสองคนจึงช่วยกันคิดกลยุทธ์ให้ทำได้ทุกคืนและทำได้จริงๆ แน่นอนว่าบริบทแต่ละบ้านต่างกัน ผมไม่มีสิทธิ์บอกว่าอะไรที่ทำจะทำได้กับทุกบ้าน แต่วันนี้มาพบหนังสือที่เขียนถึงผลดีต่อสมองฉลาดของเด็กๆ เป็นข้อๆ อย่างครอบคลุมแล้ว ก็ต้องชี้ชัดๆ อีกครั้งสำหรับท่านที่ใส่ใจและมองเห็นความสำคัญ 

โดยย้ำว่าเมื่อเริ่มต้นดี อนาคตของลูกในยี่สิบปีข้างหน้าคือดีมาก

อีกตัวเลขคือตัวเลขเริ่มดูหน้าจอ แม้สมาคมแพทย์ทั่วโลกจะอนุญาตที่ 2 ขวบ และพ่อแม่สมัยใหม่บางท่านมีทัศนคติว่าเด็กจำเป็นต้องใช้หน้าจอเร็วขึ้นเพราะไอทีมีประโยชน์มาก หากเริ่มต้นช้าเกินไปจะไม่ทันโลก แต่หนังสือเล่มนี้ก็ระบุโดยไม่เกรงใจอีกเช่นกันว่าควรอนุญาตเมื่ออายุ 6 ปี โดยแจกแจงข้อเสียหากเราให้เร็วไปและข้อดีเมื่อเรารอ 6 ปี นั่นคือเวลาที่สมองฉลาดพร้อมจะยอมรับกติกาการใช้ไอที และฉลาดพอจะกลั่นกรองไอทีได้ระดับหนึ่ง 

เป็นความจริงว่าครอบครัวของผมไม่เคยเปิดรายการทีวีทั่วไปให้ลูกดูเลยเป็นเวลาประมาณสิบปี เวลาส่วนใหญ่ของพวกเขาจึงอยู่กับการอ่าน เล่น และทำงานร่วมกับพ่อแม่ ความไม่รู้เรื่องละครทีวีหรือซีรีส์ใดๆในเวลานั้นๆ ไม่ส่งผลกระทบอะไร ทั้งยังพบว่าวันนี้พวกเขามีใจจดจ่อกับงานตรงหน้าดีมากๆ สามารถทำงานยากๆ เป็นเวลานานๆ จนแล้วเสร็จได้ทุกครั้ง

ไปที่ Part 2 ชวนอ่านบท การเลี้ยงลูก 2 คนขึ้นไป หนังสือโปรยตัวหนาสีชมพูรอเลย “คนพี่ต้องมาก่อน” มิหนำซ้ำยังเขียนบรรยายว่า “เมื่อมีลูกคนที่สอง เราควรเลี้ยงลูกโดยคิดเสมอว่า คนพี่ต้องมาก่อน ให้ได้มากที่สุด” พร้อมแนะนำวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ว่า “ให้ลูกคนโตมาอยู่ทีมผู้ใหญ่ในบ้าน” ซึ่งผมมักใช้คำว่าตั้งเขาเป็นผู้ช่วยนายอำเภอ ช่วยนายอำเภอดูแลน้อง 

อันที่จริงความรู้แบบนี้มิได้เขียนในตำราแพทย์ตรงๆ หรอกนะครับ เด็กควรเข้านอนสองทุ่ม ไม่ควรดูหน้าจอก่อนหกขวบ หรือคนพี่ต้องมาก่อน ตอนที่ผมพูดและเขียนครั้งแรกก็ไม่มีเอกสารอ้างอิงตรงๆ เป็นการพูดและเขียนจากประสบการณ์ตนเอง และจากที่ตรวจผู้ป่วยจิตเวชเด็กเป็นเวลาหลายปีเสียมาก แต่ว่าเรื่องทั้งหมดนี้มีเขียนในตำราจิตวิเคราะห์ส่วนที่ว่าด้วยจิตใต้สำนึก แน่นอนว่าตำราจิตวิเคราะห์ไม่เคยเขียนอะไรชัดเจนระดับนี้ แต่ถ้าอ่านอย่างพินิจพิจารณาแล้วคิดวิเคราะห์อย่างตั้งใจก็ใช่แน่ๆ 

คนพี่ต้องมาก่อนถ้าไม่อยากให้ทั้งระบบรวนไปหมด

ไปที่ Part 3 นอกจากจะเขียนเรื่องความสำคัญยิ่งยวดของการนอนอีกครั้งอย่างละเอียด ยังเป็นบทที่ผมเขียนเองไม่ได้เลย นั่นคือพูดเรื่องวิธีอบรมสั่งสอนลูกในเรื่องต่างๆ รวมทั้งมารยาทการเข้าสังคม ในขณะที่ผมเอาง่ายเข้าว่าคืออ่าน เล่น ทำงาน สมองร่างกายกับสมองฉลาดดี สมองจิตใจก็จะดีเอง จบเท่านี้ แต่ถ้าท่านอยากรู้วิธีสั่งสอนลูกจริงๆ ซึ่งน่ารู้มากนะครับ จะได้ไม่มีเรื่องลูกใครไม่สั่งสอนภายหลัง ท่านหาอ่านได้ทุกเรื่องในหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่การกิน การนอน การแปรงฟัน การไปสนามเด็กเล่น เปลี่ยนเสื้อผ้า เก็บของเล่น ใช้ห้องน้ำ การทักทายคนอื่นก็มีสอน สอนครบทุกเรื่อง 

แต่ที่ผมชอบที่สุดอันนี้เลย “เมื่อกลับถึงบ้านต้องรีบไปที่อ่างล้างหน้าล้างมือ เริ่มเมื่ออายุประมาณ 1 ขวบขึ้นไป” และเมื่ออ่านรายละเอียดก็พบว่าแต่ละเรื่องสุดยอดมาก มิใช่สั่งด้วยปากแต่บอกวิธีสอนเด็กๆ ทำด้วย เนื่องจากภรรยาและผมทำงานโรงพยาบาลเราสองคนอาบน้ำทันทีที่เข้าบ้านเสมอ ไม่เคยเลยที่จะนอนแช่ด้วยชุดทำงานจากโรงพยาบาล แล้วเราก็สอนลูกล้างมือล้างเท้าเมื่อเข้าบ้านทุกครั้งตั้งแต่จำความได้จริงๆ ผมเข้าบ้านจะไปอาบน้ำทันที เห็นภรรยาปล้ำเจ้าสองตัวเล็กล้างมือเสมอๆ 

เมื่อเทียบกับบ้านอื่นๆ ลูกของเราป่วยน้อยกว่ามาก

ไปที่ Part 4 เรื่องอาหารจึงละเอียดยิบแน่ๆ ท่านแม่ครัวที่ใส่ใจจะได้รับประโยชน์สูงมาก ประโยชน์นั้นจะตกกับเด็กๆ ที่เราดูแล เพราะจะอย่างไรสมองร่างกายคือชั้นที่หนึ่งของบ้าน สมองฉลาดอยู่ชั้นที่สอง และย้ำอีกครั้งหนึ่งอย่าพลาดเรื่องการใช้นิ้วมือหยิบอาหารเป็นอันขาด

ไปที่ Part 5 และ Part 6 เล่าเรื่องการเล่นกับลูกในทุกช่วงอายุและเรื่องเรียนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรียนพิเศษวิชาการหรือเรียนศิลปะวิทยาการใดๆ ไม่จำเพาะแค่เรื่องดนตรีหรือกีฬา แต่ลงรายละเอียดอย่างหลากหลายแทบจะทุกความสามารถพิเศษที่พ่อแม่สมัยใหม่นิยมให้ลูกๆ เรียนกัน น่าจะเป็นสองบทสุดท้ายที่พ่อแม่จำนวนมากอยากรู้คำตอบ จำเป็นไหม ต้องเรียนไหม ไม่มีความสามารถพิเศษได้ไหม เป็นเด็กธรรมดาได้หรือเปล่า

ผมก็อยากเล่าคำตอบให้ฟังจริงๆ แต่จะเป็นเหมือนทุกครั้งเวลาใครให้เขียนคำนิยม ถ้าพบหนังสือที่เป็นเลิศหากไม่ระวังผมกลับจะเขียนยาวกว่าตัวหนังสือเล่มจริงเสียอีก เพราะรู้สึกเสียดายมากหากท่านจะไม่อ่าน หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มหนึ่งที่ต้องอ่าน

เรามาถึงยุคที่ไอทีครองเมือง มิใช่เพียงครองเมืองแต่ครองโลก เรื่องนี้เป็นปัญหาต่อการเลี้ยงลูกมาก ดังว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ไปทำงานไม่ค่อยมีเวลา ตามด้วยปัญหาอีกข้อคือปู่ย่าตายายก็ตามโลกไอทีไม่ทัน อะไรต่อมิอะไรเปลี่ยนไปจนพ่อแม่ยุคใหม่ทำตัวไม่ถูก บางทีระดับปัญหาอาจจะมาถึงจุดที่ถ้าไม่มีคู่มือละเอียดสักเล่มหนึ่งพ่อแม่บางบ้านก็สับสนอลหม่านเอามากๆจริงๆด้วย 

การเลี้ยงลูกมีเวลาวิกฤต (คือ critical period เวลาที่หวนคืนมิได้) สมองร่างกายมีเวลาวิกฤตแค่ปีเดียว สมองฉลาดมีเวลาวิกฤตที่อายุประมาณ 6-14 ปี (กระบวนการตัดแต่งสมองที่เรียกว่า synaptic pruning เกิดขึ้น) หากคุณพ่อคุณแม่ชะล่าใจมากไปก็อาจจะเสียใจภายหลังได้โดยไม่จำเป็น