0

คำนิยม
2023-12-25 17:09:13
เลี้ยงลูกให้เป็นนักกล้าคิด - คำนิยมโดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ -
เราได้ยินเสมอๆ ว่าต้องการให้การศึกษาเป็นแบบคิดวิเคราะห์ แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าน้อยครั้งที่จะอ่านพบว่าควรทำอย่างไร
Share

             เริ่มด้วยตัวอย่างข้อสอบปรนัยในหนังสือเล่มนี้ ข้อสอบให้รูปต้นไม้บนกระดาษมาแล้วถามว่า คุณจะวัดสิ่งนี้ด้วยมาตราใด มีตัวเลือก 4 ตัวคือ ก.ฟุต ข.เซนติเมตร ค.กิโลเมตร ง.ควอร์ต คำเฉลยที่ถูกต้องตามความต้องการของผู้ออกข้อสอบน่าจะเป็นข้อ ก.ฟุต แต่มีเด็กคนหนึ่งคิดว่าให้วัดขนาดของ ‘ต้นไม้ในกระดาษ’ จึงตอบข้อ ข.เซนติเมตร  


             ท่านอยากวิจารณ์ปรากฏการณ์แบบนี้ว่าอย่างไร ผู้ออกข้อสอบทำถูกแล้ว ด้วยสามัญสำนึกใครๆ ก็รู้กันทั้งนั้นว่าต้องการให้วัดความสูงของต้นไม้ในสถานที่จริง ถ้าเด็กคนหนึ่งคิดจะวัดความสูงของต้นไม้ในกระดาษ ก็ไม่สมควรได้คะแนน ท่านเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่


              หน้าคำนิยมนี้ก็จะไม่ชี้นำ ยิ่งไปกว่านั้นท่านอาจจะไม่อยากให้ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ชี้นำด้วย ลองวิพากษ์ดูก่อนได้ว่าข้อสอบปรนัยเป็นข้อสอบที่มีข้อดีและข้อด้อยอย่างไรก่อนจะพลิกเข้าไปอ่าน ซึ่งรับรองได้ว่ามีเรื่องคิดไม่ถึงอีกหลายเรื่องจนต้องนึกในใจว่า “ไม่เคยคิดมาก่อนเลย”


            ลองอีกข้อก็ได้ครับ โจทย์ให้รูปเตารีดมา แล้วถามว่า จงเลือกคำคุณศัพท์ที่เหมาะกับภาพนี้ แล้วให้ตัวเลือก 4 ข้อ ก.ร้อน ข.เย็น ค.เหล็ก ง.สีฟ้า คำเฉลยควรเป็น ก.ร้อน เพราะเตารีดควรคู่กับความร้อนเสมอ แต่บังเอิญเด็กคนหนึ่งตอบข้อ ข.เย็น ด้วยเหตุผลที่ว่ารูปเตารีดที่ให้มาไม่ได้เสียบปลั๊ก


            เช่นเดิม ท่านอยากวิจารณ์ปรากฏการณ์แบบนี้ว่าอย่างไร คิดว่าจะเกิดอะไรกับเด็กสองคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของพวกเขาหรือวิธีทำงานของสมองของพวกเขา ขอบอกว่าน่าอ่านมาก


            หนังสือเริ่มต้นบทแรกๆ ด้วยเรื่องที่ยากที่สุดของความเป็นมนุษย์นั่นคือการตรวจสอบตนเอง มีคำศัพท์เรียกว่าอภิปัญญา (Metacognition) หรือการคิดเกี่ยวกับการคิด (thinking about thinking) ดังที่ทราบว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของการคิดคือคิดเข้าข้างตนเองและเชื่ออย่างฝังใจว่าเราคิดถูก หนังสือเล่มนี้จะบอกเราให้รู้จัก การคิดวิเคราะห์แบบตระหนักรู้ตนเอง (self-aware critical thinking) โดยเริ่มจากเรื่องง่ายไปจนถึงเรื่องยาก   มิได้บอกเปล่าแต่มีแบบฝึกหัดท้ายบทน่าสนุกให้ทดลองทำด้วย ค่อยๆ ทำไปทีละบทอย่างช้าๆ ก็ไม่น่าเชื่อว่าเพิ่งจะรู้ตัวเหมือนกันว่าคนเราหลอกตัวเองได้มากเพียงใด


            จิตวิเคราะห์บอกผมว่าส่วนที่ยากที่สุดของความเป็นเราคือ ‘ล่อหลอกคนอื่นให้ช่วยหลอกเรา’ เราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยมากขึ้นในโลกสมัยใหม่ โดยสังเกตจากการแสดงความคิดเห็นจนเกิดวิวาทะบางประเด็นบนเฟซบุ๊กโดยไม่ต้องปรากฏตัวซึ่งแต่ละคนฟาดฟันกันอย่างดุเดือดโดยมิได้เฉลียวใจที่จะประเมินตนเองเลย นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าพอถึงวันนี้จะมีหนังสือที่เล่าเรื่องคล้ายๆ กันนี้ด้วยแนวคิดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พร้อมแบบฝึกหัดทีละขั้น  

            

             ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเพียงตอนต้นของหนังสือ โดยเนื้อหามิได้เจตนาจะเล่าเรื่องจิตวิทยาแต่ตั้งใจจะเล่าว่าเราจะดูแลเด็กๆ ของเราให้คิดวิเคราะห์เป็นได้อย่างไร แล้วก็มิใช่คิดวิเคราะห์ธรรมดาๆ แต่เป็นการคิดวิเคราะห์แบบรู้เท่าทันตนเองอีกด้วย จะเรียกว่าการคิดสองชั้นเลยก็ยังได้  


              เราได้ยินเสมอๆ ว่าต้องการให้การศึกษาเป็นแบบคิดวิเคราะห์ แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าน้อยครั้งที่จะอ่านพบว่าควรทำอย่างไร อย่างมากก็เพียงว่าให้เสรีภาพแก่เด็กๆ แล้วพวกเขาก็จะคิดวิเคราะห์ได้เอง แต่ที่จริงนั่นเป็นเพียงขั้นตอนแรกๆ


            ลำพังขั้นตอนแรกๆ ก็มีหลากหลายประเด็นที่ต้องเรียนรู้ก่อน หลากหลายประเด็นนั้นผู้เขียนหนังสือนี้ได้บรรยายที่มาที่ไปอย่างละเอียดและเข้าใจง่าย ก่อนที่จะทำให้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยการขมวดประเด็นทั้งหมดด้วยคำศัพท์บางคำ คำศัพท์เหล่านี้ดูเผินๆ เหมือนจะยากแต่ไม่ยากเลย ไม่ว่าจะเป็นคำในภาษาอังกฤษหรือคำแปลไทย เช่น ผู้เล่าเรื่องที่เชื่อไม่ได้ (unreliable narrator), เซลฟีวิชาการ (academic selfie), อคติยืนยันตัวเอง (confirmation bias), ภาวะชอบสิ่งคุ้นเคย (mere expression effect), เกาให้ตรงที่คัน (itch to fit) เป็นต้น แต่ละคำน่าสนใจมาก


            “นักคิดที่มีคุณภาพต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ถูกในทันที” เป็นข้อความดีๆ อีกท่อนหนึ่ง ทั้งนี้โดยไม่ลืมที่จะอ้างอิงถึงการทดสอบมาร์ชเมลโลว์อันลือชื่อของวอลเตอร์ มิสเชล เรื่องเด็กจะได้คุกกี้สองชิ้นแทนที่จะเป็นหนึ่งชิ้นหากมีความสามารถที่จะรอคอย


            “บรรดาคำนำหน้านามและคุณศัพท์หายไป สรรพนามหลุดไป ส่วนขยายของประโยคเหลือเพียงคำกริยา จนกระทั่งสิ่งที่หลงเหลือในความคิดของเรามีเพียงคำที่มีชื่อเรียกเพียงหนึ่งคำ เมื่อประเด็นอื่นๆ ฝังอยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว คำคำเดียวสามารถเก็บข้อมูลมหาศาลและใกล้เคียงกับความหมายอันสมบูรณ์มากที่สุด” เป็นข้อความที่มีความหมายมากอีกข้อความหนึ่งของเลฟ วีกอตสกี เพื่อให้เราตระหนักรู้ว่า ‘ภาษา’ ส่งผลต่อความคิดในสมองของคนเราอย่างไร


            แม้แต่คณิตศาสตร์ก็มีตัวอย่างที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยคิดถึงมาก่อน เราสอนการบวกเลข 2+2 เท่ากับ 4 บนกระดานดำได้ ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์แทนจำนวน แต่ถ้าเราใช้วิธีนี้เพียงวิธีเดียว สมองของเด็กจะหลงลืมความเป็นจริงเรื่องอื่นๆ ไปได้ เช่น ขนนก 2 เส้นวางซ้อนกับขนนก 2 เส้น ไม่เท่ากับกระทะเหล็ก 2 ใบวางซ้อนกับกระทะเหล็ก 2 ใบแน่แม้ว่าจะรวมกันเป็น 4 เหมือนกัน น้ำหนักของกระทะเหล็ก 4 ใบย่อมมากกว่าน้ำหนักของขนนก 4 เส้นอย่างเทียบกันไม่ติด 


              จะว่านี่เป็นตัวอย่างตลกๆ ก็มิได้เพราะในความเป็นจริงเราได้ยินบ่อยๆ ว่า ‘คนแบบหนึ่ง’ มีความสำคัญมากกว่า ‘คนอีกแบบหนึ่ง’ อยู่เรื่อยๆ เหล่านี้เป็นผลพวงของโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปเพราะวิธีการสอนที่ลดทอนความเป็นจริงลง


            “การปล่อยให้คำถามค้างเติ่งเป็นเรื่องยาก เหมือนเคาะประตูแล้วไม่มีคนเปิด” เป็นคำเปรียบเปรยที่แหลมคมใช้กับการศึกษาวันนี้ได้เป็นอย่างดี การศึกษาวันนี้มิได้ออกแบบมาให้เด็กรู้จักถามและถามไม่รู้จบ แต่ออกแบบมาให้เด็กเชื่อและตอบข้อสอบให้ถูกต้องตามช่วงชั้น ใครเอ่ยที่ถามไม่หยุด คำตอบคือลูกวัยสามขวบห้าขวบของเรานั่นเอง การศึกษาที่เป็นอยู่ส่งผลลัพธ์ให้ “เมื่อเด็กอายุ 10 ขวบ... การตั้งคำถามของเด็กๆ หดหายไป” เมื่อขึ้นประถมหก เด็กส่วนใหญ่ก็สูญเสีย ‘ความอัศจรรย์ใจแบบเด็กๆ’ กับ “เมื่อถึงอายุ 16 ปี เด็กส่วนใหญ่ผันตัวสู่ด้านมืดของคนหยิ่งยโสที่รู้คำตอบเพียงด้านเดียวแต่คิดว่ารู้ไปหมด”


            หลังจากทำแบบฝึกหัดท้ายบทแต่ละบทไปจนถึงท้ายเล่ม จะพบคำศัพท์อีกคำที่อาจจะทำให้หมดกำลังใจง่ายๆ ว่าทำมาจนถึงขนาดนี้แล้วยังไม่พ้นสันดอนอีกหรืออย่างไร นั่นคือภาวะปิดหูปิดตา (ostrich effect) เสมือนหนึ่งนกกระจอกเทศที่เอาหัวมุดดินนั่นเอง ก่อนโลกไอทีเราก็พร้อมจะปิดหูปิดตาในที่ประชุมอยู่แล้ว เมื่อโลกมีโซเชียลเน็ตเวิร์กให้คนแสดงความเห็นโดยเสรีและไม่ต้องเปิดเผยตัว เราพบปรากฏการณ์ไม่ฟังกันอย่างสิ้นเชิงหนักข้อขึ้นไปอีกซึ่งต่างฝ่ายต่างงัดเหตุผลที่ตนเองคิดว่าถูกต้องออกมา


            เราจะหลุดออกจากตรงนี้ได้เมื่อ ‘รู้แจ้ง’ หนังสือบอกอีกเรื่องที่ผมไม่เคยเฉลียวใจมาก่อนนั่นคือก่อนที่เราจะรู้แจ้งที่แท้แล้วร่างกายของเรา ‘รู้ตัว’ ก่อนแล้ว เวลาได้ฟังความเห็นที่แตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิง เราเกร็งกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว เริ่มกระสับกระส่าย เป็นสัญญาณที่ดีถ้าเราจะสืบจับได้ว่าบัดนี้การทดสอบความคิดของเราเองเริ่มต้นอีกแล้ว แล้วรอบนี้เราจะรู้แจ้งได้หรือไม่


            รู้แจ้งว่าอะไร หนังสือยกตัวอย่างวิวาทะหลายเรื่องที่ไม่มีทางประนีประนอมได้เลย แต่เป็นว่าทั้งที่ประนีประนอมไม่ได้นั้นเองก็ยังเป็นไปได้เสมอที่ทั้งสองฝ่ายจะรู้แจ้งว่าที่แท้เรามีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเดียวกันหรืออย่างน้อยก็คล้ายๆ กันซึ่งส่วนใหญ่ก็ไปไม่พ้นเพื่อสวัสดิภาพและความผาสุกของสรรพสิ่ง นอกจากนี้ยังมีราคาที่ต้องจ่ายและทุกคนทุกฝ่ายต้องจ่ายแน่ สำหรับคนที่แสดงความเห็นไม่เหมือนผู้อื่นต่อให้ท่านมีหลักฐานมากเพียงไรท่านก็มีราคาต้องจ่ายวันยังค่ำนั่นคือการเป็นคนนอก   


              กลับมาที่ชื่อหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง หนังสือนี้มิได้ตั้งใจจะสอนเรื่องการระงับความเห็นต่าง แต่ตั้งใจให้เลี้ยงลูกโตมาคิดวิเคราะห์เป็นและมีความกล้าหาญที่จะเห็นต่าง ชื่อหนังสือบอกเป็นนัยว่าเราพ่อแม่คือกำลังสำรองหรือกองหลังของลูกอยู่เสมอ พูดง่ายๆ ว่า “ลูกเห็นต่างได้ด้วยเหตุผลและแสดงออกได้โดยรู้ว่ามีราคาบางอย่างต้องจ่าย อย่างไรก็ตามพ่อแม่รักลูกแบบที่ลูกเป็นเสมอ”


            เป็นหนังสือที่ซับซ้อนมากแต่ไม่หลุดประเด็นเลยครับ