หนูทำได้ สไตล์มอนเตสเซอรี
(2017, คันนาริ มิกิ-เขียน, ฐิติพงศ์ ศิริรัตน์อัสดร-แปล, สนพ.แซนด์คล็อคบุ๊คส์)
ได้รับหนังสือจาก SandClock Books ส่งให้แก๊ง เมียแคสต์ ที่ตอนนี้เทิร์นสถานะเป็นแม่แคสต์กันไปหมดแล้ว ซึ่งเป็นบุญมาก เพราะเคยคิดว่าจะซื้ออยู่พอดี ช่วงนี้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเด็กและการศึกษาเยอะหน่อย พอเขามอบหนังสือให้เลยได้ทำการไหว้พระขอพรให้ผู้มอบมีแต่ความสุขความเจริญ กราบสามทีไม่แบมือ
เอาจริงๆ เราจะเคยได้ยินคำว่ามอนเตสเซอรีอยู่บ่อยๆ แหละ ยิ่งถ้าอ่านหนังสือการศึกษา พัฒนาการเด็กปฐมวัยไรงี้บ่อยๆ ยังไงก็ต้องเคยผ่านตามาบ้าง ยิ่งช่วงนี้กำลังเริ่มหาข้อมูลเรื่องโรงเรียนลูก ก็ยิ่งเจอสิ่งนี้บ่อยเข้าไปอีก เพราะอยากรู้ว่ามันคืออะไร เลยลองเสิร์ชอ่านในอินเตอร์เน็ต ก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง จับใจความได้คร่าวที่สุดคือมันเป็นระบบการศึกษาทางเลือก แค่นั้นเลย 5555 อ่านหนังสือไม่แตกเหรอมึงอ่ะ
จนพอได้ลงมืออ่านเล่มนี้ เลยเข้าใจถึงแนวคิดของความมอนเตสเซอรีมากขึ้น คือหนังสือไม่ได้เสียเวลากับการให้นิยาม แต่เป็นการยกตัวอย่างและสมมติสถานการณ์เพื่อให้อ่านแล้วเห็นภาพ เข้าใจง่ายขึ้น กึ่งๆ จะเป็น How to ด้วยซ้ำ
สิ่งที่เก็บมาได้หลังอ่านจบ คือถ้าไม่ใส่ใจว่าชื่อระบบแนวคิดมันคืออะไรนะ คือเราชอบวิธีการที่เน้นให้พ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด "สังเกต" และ "เข้าใจ" ความเป็นเด็ก สิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบทำด้วยความเคยชินคือการมองเด็กจากมุมของตัวเอง แล้วแปลความหมายพฤติกรรมเหล่านั้นจากประสบการณ์ที่เรามี ซึ่งมันน่ากลัวตรงที่ เราอาจจะไปตัดสินให้เด็กคนนั้นเป็นขาวหรือดำไปได้เลย ทั้งที่จริงๆ แล้วเด็กเขาเพิ่งมีอายุไม่กี่ปีบนโลก ร่างกายและจิตใจกำลังเซ็ทระบบของตัวเองไม่เสถียรดีนัก ผู้ใหญ่จึงควรค่อยๆ สังเกต เข้าใจ และช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองให้เต็มศักยภาพในช่วงวัยของเขา ไม่ใช่การเอาตัวเราเป็นไม้บรรทัด
ที่ดีอีกอย่างคือในเล่มนี้จะช่วยแฮ็คบางพฤติกรรมของเด็กๆ ที่เราไม่เข้าใจ และแนะนำวิธีการดีลกับพฤติกรรมนั้นๆ เช่น ความงอแงเวลามีแขกมาบ้าน เพียงเพราะแขกจะนั่งโต๊ะกินข้าว ซึ่งในมุมของเด็ก เขามีภาพในหัวอยู่แล้ว ว่าเก้าอี้ตัวไหนเป็นของใคร ของพ่อ ของแม่ ของพี่ ของเขา พอแขกมาบ้าน แล้วมานั่งเก้าอี้ของคุณพ่อ มันผิดไปจากภาพที่เขามี เขาจึงงอแง ไม่ได้แปลว่าเขาเห็นแก่ตัวหรืองี่เง่า ซึ่งเราๆ มักจะแปลความเป็นอย่างนั้น เนี่ย เรื่องแค่นี้อ่ะ ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจ เราจะมีวิธีการจัดการกับเด็กๆ ในแบบที่น่ารักขึ้นได้เยอะมาก
หนังสือเล่มนี้แปลจากภาษาญี่ปุ่น เขียนโดยคุณคันนาริ มิกิ เคยอ่านและดูหลายๆ รายการ คือพบว่าคุณแม่ญี่ปุ่นมีความเครซีในความมอนเตสเซอรีพอสมควร อย่างโรงเรียนอนุบาลฟูจิ ที่โด่งดังเรื่องการออกแบบอาคาร ก็สอนแบบมอนเตสเซอรีเหมือนกัน เคยดูรายการไปถ่ายที่โรงเรียนนี้แล้วอิจฉาเด็กๆ ที่ได้เรียนในสภาพแวดล้อม และวิธีการสอนที่ดีแบบนั้นเหลือเกิน
ตอนแรกที่คิดจะซื้อหนังสือเล่มนี้แล้วยังไม่ได้ซื้อ เพราะคิดว่าเอาไว้ใกล้ๆ ลูกจะเข้าโรงเรียนแล้วค่อยอ่านก็ได้ ตอนนี้มึงเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างไรไม่ให้มือเลอะขี้ก่อนจะดีกว่า แต่เอาจริงๆ พออ่านจบแล้วก็คิดว่า ดีจังที่ได้เริ่มเข้าใจตั้งแต่ตอนนี้ เพราะวิธีการหลายๆ อย่างมันเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ได้ อย่างที่เขียนไว้ข้างบนอ่ะ ไม่ต้องใส่ใจว่ามันเป็นระบบมอนเตสเซอรีหรือระบบไหน แต่การที่เราได้ลงมือสังเกตการเติบโตของลูกอย่างเข้าใจถ่องแท้ และปรับวิธีการรับมือกับเขาไปตามจังหวะของลูกนั่นแหละดีที่สุด ตั้งแต่มีลูกนี่เราต้องสังเกตและจดบันทึกเยอะขึ้นมาก และคิดว่ามาถูกทางแล้ว และเอาจริงๆ ผู้ใหญ่ที่ไม่มีลูก จะลองทำความเข้าใจมอนเตสเซอรีดูก็ไม่เสียหาย เพราะยังไงในวันๆ นึง เราก็ต้องได้เจอเด็กอยู่บ้าง จะได้มีภูมิคุ้มกันระมัดระวังคำพูดและการปฏิบัติต่อเด็กๆ แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการดุ ว่าเด็กคนนี้ไม่น่ารักเลย จะได้ลองเข้าใจเด็กจากมุมของเขาบ้าง หมดปัญหาการตั้งกระทู้ด่าเด็กในพันทิป และตามเพจลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน
กราฟิกและเลย์เอาต์ในเล่มน่ารักมาก อาจจะเพราะชอบสีน้ำเงินด้วยเลยชอบเป็นพิเศษ ติดนิดหน่อยตรงหน้าที่เป็นการ์ตูนช่อง คือเข้าใจว่าแปลมาจากญี่ปุ่น เลยต้องอ่านแบบขวาไปซ้าย แต่ทีนี้เราอ่านตัวหนังสือแบบซ้ายไปขวามาตลอด พอถึงหน้าการ์ตูนเราก็จะกวาดตาแบบซ้ายไปขวาโดยอัตโนมัติ กว่าจะรู้ว่า อ้าว อ่านข้ามช่อง ก็ทำให้เสียจังหวะในการอ่านไปเล็กน้อย แต่นอกนั้นน่ารักมาก การมีการ์ตูนทำให้เราเข้าใจมากขึ้นอีกเยอะเลย
แอบติดใจผลงานของสำนักพิมพ์นี้นะ เพิ่งเห็นว่าเป็นเจ้าเดียวกับที่ทำเล่ม Bringing up bebe ที่ซื้อมาอ่านตั้งแต่เริ่มท้องและชอบเล่มนั้นมาก ยังคิดว่าเมืองไทยไม่ค่อยมีหนังสือที่เก่ียวกับการเลี้ยงเด็กแบบอ่านสนุก ในร้านหนังสือถ้าไม่เป็นตำราเข้มๆ ก็เป็นหนังสือเลี้ยงลูกของดาราเซเลป มาบังเกิดมีสำนักพิมพ์นี้ในช่วงที่เรามีลูกอยู่พอดีจึงเป็นสวรรค์มาก เคยอ่านสัมภาษณ์คุณทราย ที่ทำสำนักพิมพ์นี้ ก็ชอบในความตั้งใจ แม่ทำให้แม่อ่านน่ะ ใครจะรู้ใจแม่เท่าแม่ แม่ก็คือแม่ โว้ยย แม่เยอะเกินไปแล้ว
นี่กำลังอ่านอีกเล่ม "Baby-Led Weaning แม่ไม่เหนื่อยป้อน สอนลูกให้กินเอง" ของสำนักพิมพ์นี้ล่ะเป็นการเตรียมการสู่มื้ออาหารแรกของเด็กหญิง เอาไว้อ่านจบแล้วจะมาเขียนถึงอีกทีนะ