นิ้วมือเป็นสมองที่2
เด็กทุกคนพัฒนาเองได้
แค่ยื่นกระดาษให้ก็ขยำแล้ว
ใช้ความซนให้เป็นประโยชน์!
เขียนชัด ยาว ควรอ่าน ยาว อ่านครับ
จากบทนำ หนังสือ เล่นกับลูกสไตล์มอนเตสซอรี
แปลจาก 引っぱりだす! こぼす! 落とす! そのイタズラは子どもが伸びるサインです มิกะ อิโต เขียน / อาคิรา รัตนาภิรัต แปล
•••••
ผลงานลำดับที่ 12 ของสำนักพิมพ์ SandClock Books
เด็กที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ทำตามคำพูดของผู้ใหญ่ทุกอย่างอาจไม่ก่อเรื่องปวดหัวให้พ่อแม่ก็จริง และเด็กแบบนี้ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
•••••
แต่เด็กเหล่านี้จะลำบากมากเมื่อโตขึ้นและเข้าสู่สังคมของผู้ใหญ่ เพราะเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วย่อมไม่มีใครคอยสั่งคอยสอนหรือปกป้องพวกเขาได้ตลอดเวลา และการจะทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามคู่มือหรือคำแนะนำก็คงไม่ใช่เรื่องดีนัก
•••••
กว่าลูกของเราจะโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานอาชีพต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในเวลานี้อาจหายไปจนเกือบหมดก็ได้ ถึงตอนนั้นสังคมจะต้องการคนที่รู้จักคิดด้วยตัวเองรู้ทันถึงความต้องการของยุคสมัย และสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ออกมาได้
•••••
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราจะต้องเลี้ยงลูกให้ดีตั้งแต่เมื่อเขายังเป็นเด็กแบเบาะ และสอนให้เขาเป็นเด็กที่คิดด้วยตัวเองเป็น ฉันคิดว่านี่แหละคือหน้าที่ของพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์
•••••••••••••••
:::::: เด็กในยุคนี้มีพัฒนาการถดถอยลง ::::::
ฉันเคยทำงานคลุกคลีกับโรงเรียนอนุบาลและเนอสเซอรีมา 26 ปี ระหว่างนั้นเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอยู่ 9 ปี หลังจากนั้นฉัน ลาออกจากโรงเรียนอนุบาล และได้ก่อตั้ง “Kagayaki baby School” ขึ้น ในชีวิตนี้ฉันได้เจอเด็ก ๆ มาแล้วกว่าเก้าพันคน และสิ่งที่ฉันกังวลมากที่สุดก็คือ “พัฒนาการที่ถดถอยลง” ของเด็กในยุคปัจจุบัน
•••••
มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว (3 ขวบ) แต่ยังใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปอยู่เลย ที่น่าตกใจไม่ได้มีแค่นี้หรอกนะคะ เด็กอนุบาลบางคนเวลาหกล้มไม่สามารถยื่นแขนออกไปยันพื้นได้ จึงปล่อยให้ใบหน้ากระแทกกับพื้น นอกจากนี้ยังเด็กบางคนไม่สามารถแขวนเสื้อคลุมกับตะขอแขวนเสื้อ หรือบางคนก็เปิดหน้าหนังสือไม่เป็น ที่โรงเรียนอนุบาล ทันทีที่เปิดเทอมจะให้เด็กทำธงปลาคาร์ฟภายใน เดือนเมษายนเพื่อใช้สำหรับเทศกาลวันเด็ก <วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี> ในเดือนพฤษภาคม โดยสมัยก่อนเด็กจะใช้กรรไกรและกาวในการทำธงปลาคาร์ฟ
•••••
แต่เด็กๆ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้กลับไม่สามารถประดิษฐ์ธงภายในเดือนเมษายนหลังเปิดเทอมได้ ในแต่ละวันแค่คุณครูพี่เลี้ยงคอยดูแล, สอนเปลี่ยนเสื้อผ้า, ล้างมือ หรือสอนเข้าห้องน้ำก็หมดวันแล้ว
•••••
เวลาสอนเด็กล้างมือก็มีเด็กที่ไม่เคยหมุนก๊อกน้ำมาก่อน หรือเวลาสอนเด็กใช้กระดาษชำระ เด็กบางคนยังฉีกกระดาษออกจากม้วนไม่ได้เลย ที่เลวร้ายที่สุดก็คือเด็กบางคนเดินเข้าห้องน้ำแล้วยืนเฉย ๆ เพราะที่บ้านเป็นฝาชักโครกแบบเปิดได้เองโดยอัตโนมัติ
•••••
เรื่องนี้ฉันคงไม่โทษคุณแม่ของเด็กเพียงอย่างเดียวหรอกค่ะ ปัจจุบันเป็นยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีซึ่งอำนวยความสะดวกสบาย ทำให้โอกาสที่เด็กจะได้ใช้มือและนิ้วของตัวเองลดน้อยลงมาก
••••
ในขณะเดียวกันเมื่อเห็นเด็กน่ารัก พ่อแม่ก็มักเผลอทำทุกอย่างให้ลูกไปเสียหมด แน่นอนว่าถ้าเด็กไม่ได้ฝึกทำอะไรเองเลยย่อมทำไม่เป็น แต่ฉันกลับรู้สึกได้ว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้รับการฝึกสอนทักษะขั้นพื้นฐานเลย ไม่ว่าจะเป็น “หยิบ” “ดึง” “หมุน” ดังนั้นฉันจึงกลุ้มใจอย่างมากว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง
••••••••••••••••••
-- มือและนิ้วคือสมองที่สอง -
•••••
พัฒนาการที่แย่ที่สุดของเด็กสมัยนี้ก็คือทักษะในการใช้มือและนิ้ว เช่นเวลาติดกระดุมเสื้อก็ทำไม่ค่อยได้ จึงต้องคอยบอกเด็กช้า ๆ ทีละขั้นตอนว่าจับกระดุม สอดในรูแล้วดึงออกนะ...
•••••
มือและนิ้วเปรียบได้กับ “สมองที่สอง” ภายใต้สภาพแวดล้อมปัจจุบัน หากเราไม่เตรียมอุปกรณ์ที่ช่วยให้เด็ก “จงใจ” ใช้มือและนิ้วของตัวเองไว้ จะทำให้พัฒนาการยิ่งแย่ลงจริงอยู่ว่าถึงเราไม่สอนตอนนี้เมื่อโตขึ้นเด็กก็ต้องหมุนก๊อกน้ำได้ บิดผ้าขี้ริ้วได้ หรือติดกระดุมได้เองอยู่แล้ว
••••••
ฉันเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่บางท่านที่อยากพูดว่าไม่เห็นต้องรีบร้อนเลยแต่การให้เด็กใช้มือและนิ้วบ่อยๆ ตั้งแต่ยังเล็กจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสมอง นอกจากนี้ทักษะต่าง ๆ ที่เด็กทำได้ในวัยนี้จะเป็นสิ่งที่ “ติดตัวไปตลอดชีวิต” อีกด้วย หากเด็กโตขึ้นโดยที่สมองไม่ได้รับการกระตุ้นเลย นอกจากจะทำให้การตอบสนองของร่ายกายผิดปกติไปบ้างแล้ว ยังอาจโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่่ที่มีทักษะพื้นฐานต่ำกว่าคนทั่วไปก็ได้
•••••
ตอนที่ฉันคิดว่าสมัยก่อนไม่เห็นเป็นแบบนี้เลย...ก็ได้เข้าใจว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงเป็น แบบนี้ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากคุณแม่ของเด็กๆ ที่โรงเรียนด้วย
•••••
เด็กวัยแรกเกิดถึงสามขวบถือเป็นวัยที่สำคัญสำหรับพัฒนาการด้านต่าง ๆ มาก แต่พ่อแม่มักคอยจำกัดพฤติกรรมของเด็ก คุณแม่ใน ยุคนี้ส่วนใหญ่ไม่เคยได้ใกล้ชิดกับเด็กเล็ก ๆ มาก่อนจนกระทั่งมีลูกเองแถมจู่ ๆ ก็ได้มาเป็น “คุณแม่” โดยไม่มีใครเป็นที่ปรึกษาใกล้ตัวเลย
•••••
เวลาพาลูกที่ยังเป็นทารกออกไปข้างนอกก็ใช้เป้อุ้มเด็กหรือจับลูกใส่รถเข็น ส่วนตัวเองก็นั่งทานมื้อเที่ยงพลางพูดคุยสนุกสนานกับเพื่อนๆ เพราะเหตุนี้เด็กถึงได้เรียบร้อยแล้วก็ยิ้มแย้มอยู่เสมอ แต่เพราะการใช้เป้อุ้มเด็กหรือรถเข็นเด็กตลอดเวลา ทำให้เมื่อพามาเนิสเซอรีจึงพบว่าเด็กบางคนคลานไม่เป็น แถมยังมีเด็กบางคนไม่คลาน แต่ข้ามไปลุกขึ้นยืนโดยใช้มือเกาะได้เลยด้วย...
•••••
เมื่อได้คุยกับคุณแม่ของเด็ก ๆ ก็พบว่าตอนที่เด็กยังอยู่ในวัยนอน คุณแม่จะให้เด็กนอนในเตียงเด็กขณะที่ตัวเองทำงานบ้าน พอลูกโตอีกหน่อยจนเริ่มเล่นซนได้ก็ให้เด็กเล่นเฉพาะเวลาอยู่ที่เนอสเซอรี เวลาอยู่บ้านก็กั้นรั้วไม่ให้ลูกเข้ามาในครัวได้
•••••
ยุคนี้อาจแตกต่างจากสมัยก่อนคือไม่มีคนในครอบครัวมาช่วยดูแลลูกให้ ฉันจึงเข้าใจดีที่คุณพ่อคุณแม่จะกังวลเรื่องความปลอดภัยจนต้องคอยจำกัดพฤติกรรมของเด็ก
•••••
แต่ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้ทักษะการเคลื่อนไหวหรือการใช้มือและนิ้วของเด็กไม่ค่อยพัฒนา
คุณแม่บางท่านบอกว่า “ไม่รู้จะเล่นกับลูกยังไงดี” ก็เลยใช้เป้อุ้มเด็กหรือวางลูกใส่รถเข็นแล้วเอาแต่นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ วันก่อนฉันขึ้นรถไฟเจอคุณแม่ท่านหนึ่งขึ้นรถมาพร้อมกับลูกวัยหนึ่งขวบ ทั้งที่เด็กยังเล็กอยู่มากแต่คุณแม่ท่านนั้นกลับทำท่าจะยื่นสมาร์ทโฟนให้เด็กเล่น ส่วนตัวเด็กเองก็ดูเหมือนจะไม่ชอบใจนักแล้วเบือนหน้าหนี
•••••
:::::: ถึงคุณแม่ที่พูดว่า “ไม่รู้จะเล่นกับลูกยังไงดี”::::::
ตอนนั้นฉันมีกระดาษโอริกามิติดตัวอยู่พอดีจึงยื่นให้เด็ก เด็กคนนั้นรีบคว้าด้วยท่าทางดีอกดีใจทันที จริงอยู่ว่าเด็กหนึ่งขวบยังพับกระดาษไม่เป็น แต่แค่กระดาษหนึ่งแผ่นเด็กก็สามารถเล่นสนุกด้วยการคว้า พับ หรือขยำได้
•••••
ส่วนฉันก็ได้แต่นึกเศร้าใจที่คุณแม่ยื่นสมาร์ทโฟนให้ลูกเล่นโดยที่ไม่รู้อะไรเลย
การที่จู่ๆ คนรุ่นใหม่ต้องกลายเป็นคุณแม่โดยไม่มีคุณย่าคุณยายช่วยเลี้ยงหลาน ทำให้คุณแม่ไม่รู้ว่าลูกชอบอะไร หรือควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับลูกอย่างไร และส่งผลให้คุณแม่ที่เอาแต่พึ่งพาโทรศัพท์มือถือนั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
•••••
เมื่อฉันสังเกตเห็นถึงพัฒนาการที่ถดถอยลงของเด็ก ๆ ในโรงเรียนอนุบาล จึงคิดหาทางที่จะช่วยแก้ปัญหาได้โดยเร็ว และได้จัด “ชั้นเรียนก่อนถึงวัยอนุบาล” ขึ้นมา ในชั้นเรียนที่ว่านี้เราจะให้เด็ก ๆ ได้เล่นของเล่นต่าง ๆ ซึ่งฉันจะแนะนำในหนังสือเล่มนี้ค่ะ
•••••
ช่วงแรก ๆ คุณแม่ดูจะกังวลอยู่บ้างทำให้เด็กเองก็ไม่มีสมาธิในการเล่น แต่เมื่อเข้าสู่ภาคเรียนที่สาม เด็กทุกคนจะมีสมาธิจดจ่อได้ตลอดชั่วโมงเรียนเป็นเวลา 50 นาทีโดยไม่ขาดตอนเลย หนึ่งชั้นเรียนจะมีเด็ก 15 คน และห้องจะเงียบสนิทตลอด 50 นาทีโดยเด็กก่อนถึงวัยอนุบาลนั้นส่วนใหญ่จะอายุ 2 ขวบ
•••••
ในตอนท้ายเด็กจะใช้กรรไกรเป็น ไม่ใช่แค่ตัดกระดาษรูปหัวใจ แต่สตัดเป็นรูปตัวด้วงได้เลย เมื่อเด็กพอใจกับการทำสิ่งใดสำเร็จ เขาก็จะเกิดความรู้สึกอยากทำอีกเรื่อย ๆ
•••••
ยอดไปเลย ! สิ่งนี้ยืนยันว่าชั้นเรียนนี้ได้ผลดี และเมื่อเด็กที่เคยอยู่ชั้นเรียนก่อนวัยอนุบาลนี้มาเข้าเรียนในระดับอนุบาลกับเรา ก็จะเห็นได้ชัดว่าเขามีสมาธิ, ทักษะในการใช้มือและนิ้ว รวมถึงทักษะอื่นๆ มากกว่าเด็กคนอื่น
•••••
แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กก็คือการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่
“ลูกทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ” “เขามีสมาธิในการเล่นตลอด 50 นาทีเลยเหรอ”
เมื่อคุณแม่รู้สึกได้ถึงจุดนี้ก็จะไม่ค่อยเป็นกังวลเรื่องของลูกจนเกินเหตุ และเชื่อใจว่า “ลูกเราอยู่ได้ไม่มีปัญหา” คุณแม่จะเป็นกังวล ตื่นตัว หรือคอยยื่นมือเข้าไปช่วยน้อยลง
•••••
ดังนั้นคุณแม่จึงเชื่อใจและนั่งดูลูกของตัวเองเล่นเงียบ ๆ ตลอด 50 นาทีเช่นกัน
หากเด็ก 2 ขวบ พัฒนาได้ขนาดนี้ ฉันเชื่อว่าเด็กทารกก็น่าจะพัฒนาได้มากเช่นกัน จึงได้เชิญคุณแม่ที่มีลูกวัยแรกเกิดมาที่โรงเรียนของเรา จนถึงเดี๋ยวนี้ฉันยังจำท่าทีของคุณแม่เหล่านั้นได้ไม่ลืมเลย คุณแม่บางท่านเปลี่ยนผ้าอ้อมโดยไม่ส่งเสียงคุยกับลูกเลย พอฉันถามดูก็ได้คำตอบว่า “ที่ผ่านมาก็เปลี่ยนเงียบ ๆ ไม่คุยกับลูกแบบนี้แหละ” พอฉันยื่นลูกบอลให้ คุณแม่บางท่านก็บอกว่า “ไม่รู้จะใช้ลูกบอลเล่นกับลูกยังไง”
•••••
นอกจากนี้ก็มีคุณแม่บางท่านพูดว่า “เวลาเห็นลูกร้องไห้งอแงอยู่หน้ารั้วกั้นห้องครัวแล้วรู้สึกหงุดหงิดจริงๆ” ฉันคิดว่าไม่ได้การล่ะ ! เพราะได้คุยกับคุณแม่ทั้งหลายในตอนนั้นทำให้ฉันตัดสินใจที่จะเปิด“Kagayaki Baby School” แห่งนี้ขึ้นมา
•••••
ก่อนอื่นฉันขอแนะนำถึง “การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี (Montessori Method)” ซึ่งเป็นทฤษฎีพื้นฐานของหนังสือเล่มนี้ก่อนนะคะ ตัวฉันเองมีลูกสามคน ลูกชายคนโตเข้าเรียนอนุบาลแบบธรรมดา ส่วน ลูกคนถัดมาซึ่งเป็นลูกสาวคนโตก็เข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลธรรมดาในปีแรกได้โดยไม่มีปัญหาอะไร ทางโรงเรียนจะมีรถบัสมารับส่งเด็กถึงหน้าบ้าน ทั้งยังสอนเด็ก ๆ เล่นเครื่องดนตรีด้วย
•••••••••
ตอนนี้มาคิดดูแล้วก็รู้สึกว่าเป็นโรงเรียนอนุบาลที่อำนวยความสะดวกสบายให้พ่อแม่ดีทีเดียว โดยฉันให้ลูกสาวเข้าเรียนพร้อมกับลูกของเพื่อนบ้านแต่ดูเหมือนว่าทางโรงเรียนจะมีการสอนที่เป็นการบังคับเด็กอยู่บ้างจน ทำให้ลูกของเพื่อนบ้านมีอาการของโรค Tic <โรคความผิดปกติของระบบประสาททำให้มีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อหรือเปล่งเสียงแปลก ๆ> ฉันกับเพื่อนบ้านจึงคิดจะให้ลูกย้ายโรงเรียนและโรงเรียนที่เราไปเยี่ยมชมในตอนนั้นก็ เป็นโรงเรียนอนุบาลที่ใช้ “การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี”
•••••
ประสบการณ์ตอนไปเยี่ยมชมโรงเรียนเป็นสิ่งที่ประทับใจฉันมาก ตอนนั้นมีเด็กคนหนึ่งทำน้ำหกจากแจกัน เมื่อเห็นดังนั้นสิ่งแรกที่คุณครูทำไม่ใช่ต่อว่าเด็ก แต่เขาพูดกับเด็กว่า “ไปหยิบผ้าขี้ริ้วด้วยกันนะ” แล้วจึงพาเด็กไปหยิบผ้าขี้ริ้ว ทั้งยังช่วยเด็กเช็ดพื้นและซักผ้าขี้ริ้วด้วยกัน
•••••
คุณครูพูดกับฉันว่า “ความผิดพลาดเป็นโอกาสให้พวกเราได้สอนเด็ก ๆ”เมื่อเด็กทำน้ำหก สิ่งสำคัญไม่ใช่การดุ แต่คือการสอนให้เด็กรู้ว่าเมื่อทำน้ำหกแล้วจะต้องทำอย่างไร” เพื่อให้เด็กสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยตัวเองเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก พอได้ยินคำพูดนั้นฉันถึงกับช็อกและคิดไปว่า “ที่ผ่านมาฉันมัวทำอะไรอยู่”ฉันรู้สึกเหมือนได้เพิ่งได้ตระหนักรู้ว่า “สิ่งสำคัญไม่ใช่การดุ แต่คือการคิดหาทางแก้ไขด้วยกันต่างหาก”
•••••
หลังจากนั้นฉันก็รีบย้ายโรงเรียนให้ลูกสาวทันที และยังให้ลูกสาวคนเล็กที่อายุใกล้ครบ 2 ขวบ เข้าเรียนที่เดียวกัน ส่วนตัวฉันเองก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรีที่ผ่านมาฉันเคยเข้าใจว่าผู้ใหญ่มีวิธีรับมือกับการเล่นซนของเด็กอยู่สองแบบคือ
“1. ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นซนเลย” และ
“2. ดุเมื่อเห็นเด็กเล่นซน”
แต่แล้วฉันก็ได้เข้าใจว่ายังมีอีกวิธีหนึ่งคือ
“3. อย่าปล่อยให้เสียโอกาสที่จะใช้การเล่นซนเป็นเครื่องมือในการสอนเด็ก”
•••••
ทฤษฎีมอนเตสซอรีเกิดขึ้นจากแนวคิดของมาเรีย มอนเตสซอรี (Maria Montessori) แพทย์หญิงชาวอิตาลี และได้ถูกเผยแพร่ไปยังทั่วโลก พื้นฐานของการเรียนการสอนนี้คือ “เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมความสามารถที่จะเติบโตและพัฒนาได้ด้วยตัวเอง ผู้ใหญ่ (พ่อแม่หรือครู) มีหน้าที่ให้ความร่วมมือ ให้อิสระ และสนับสนุนในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองได้”
•••••
อาจเข้าใจยากอยู่สักหน่อยแต่ตัวอย่างเรื่องแจกันที่ฉันพูดไปก็แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานของการเรียนการสอนนี้เช่นกัน “ช่วงวัยเพียงสั้นๆ ตั้งแต่แรกเกิดที่เด็กสามารถพัฒนาทักษะได้สูงสุด” จะช่วยสร้างรากฐานไปตลอดชีวิต !
•••••
การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรีจะใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนที่เหมาะกับวัยของเด็กโดยให้เด็กเลือกด้วยตัวเองเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าอยากลองทำดูและเนื่องจากเป็นการเรียนการสอนที่เน้นความคิดของตัวเด็กเป็นสำคัญ จึงไม่มีการสอนตามหลักสูตร หรือให้ครูและพ่อแม่คอยสอนผู้ใหญ่มีหน้าที่แค่คอยเฝ้าดูเด็ก ๆ และให้การช่วยเหลือเท่านั้น
•••••
เพราะเรารู้ว่าช่วงแรกเกิดถึงหกขวบซึ่งเด็กกำลังเติบโตขึ้นนั้นเป็นช่วงที่เห็นพัฒนาการด้านทักษะต่าง ๆ ของเด็กได้อย่างชัดเจน ระยะไวต่อการเรียนรู้ซึ่งเด็กจะพัฒนาให้เห็นถึงนิสัยและยังเป็นการสร้างรากฐานของชีวิตนั้น จะเห็นได้ชัดมากที่สุดในช่วงหลังคลอดจนกระทั่งเด็กอายุสามขวบ
•••••
แปลว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมโปรแกรมที่จะพัฒนาตัวเองอยู่แล้วหรือพูดง่าย ๆ ก็คือเป็น “ช่วงที่ดีที่สุด” ในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ นั่นเอง ทักษะพื้นฐานต่าง ๆ เช่น “การหยิบใส่” “การจับ” “การดึง” ซึ่งจะแนะนำในหนังสือเล่มนี้ จะยิ่งพัฒนาได้ดีเมื่อเด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
•••••
ระยะไวต่อการเรียนรู้จึงหมายถึง “ช่วงเวลาที่เด็กแสดงให้เห็นทักษะที่ติดตัวมา
แต่เกิด โดยเป็นระยะเวลาที่มีจำกัด” จริงๆ แล้วในสมัยก่อน คนเราก็เสริมสร้างพัฒนาการให้เด็กในลักษณะนี้โดยไม่รู้ตัว แต่น่าเสียดายที่การเลี้ยงเด็กในยุคปัจจุบัน หากเราไม่จงใจสร้างสภาพแวดล้อมให้ส่งเสริมต่อพัฒนาการก็อาจทำได้ยาก
พูดแบบนี้แล้วอาจทำให้ทุกคนเข้าใจผิดว่าต้องกำหนดการเรียนการสอนเด็กอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามแบบแผน ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะฉันหมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมผ่านทาง “การเล่นสนุก”เพื่อส่งเสริมให้เด็กพัฒนาทักษะที่ตัวเองอยากทำได้มากที่สุด
ในช่วงเวลานั้น
•••••
โดยพ่อแม่หรือครูจะไม่ “บอกให้ทำ” แต่ให้เด็กเลือกเองหรือทำเมื่ออยากทำ นี่คือประเด็นสำคัญค่ะการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้แสนสะดวกสบายแต่เป็นสภาพแวดล้อม
ที่ไม่ค่อยส่งเสริมต่อพัฒนาการของเด็ก ความสะดวกสบายเหล่านี้แหละที่ยิ่งทำให้พัฒนาการของเด็กถดถอยลง
•••••
อย่าปล่อยให้ “เวลาที่ดีที่สุด” สำหรับพัฒนาการของเด็กหลุดลอยไปถึงตรงนี้คุณแม่หลายท่านคงคิดว่าหากเด็ก ๆ มี “ระยะไวต่อการเรียนรู้” ก็อยากจะรู้ว่าเวลาไหนที่เด็กมีพัฒนาการได้ดีที่สุด ! วิธีดูนั้นไม่ยากค่ะ เทคนิคในการหา “ช่วงที่ดีที่สุด” ในการพัฒนา
ทักษะต่างๆ คือให้สังเกต “สิ่งที่เด็กชอบทำ”
•••••
สิ่งที่เด็กชอบทำที่ว่านี้หมายถึง “การเล่นซน” ของเด็กซึ่งฉันได้พูดไปในตอนต้น คุณแม่จะต้องสังเกตว่าช่วงนี้ลูกของเราชอบเล่นซนแบบไหน ยกตัวอย่างเช่นการดึงกระดาษทิชชูออกจากกล่องจนหมด, หยิบขยะออกจากถัง, ดึงเชือกออกจากม้วน, ดึงเส้นผม...
หากเราเห็นเด็กเล่นซนแบบนี้ซ้ำๆ แสดงว่าเด็ก “อยากดึง” หรือ“พัฒนาทักษะในการดึง” พฤติกรรมที่เรามองว่าเด็กกำลังเล่นซนนี้คือทักษะที่เด็กอยากพัฒนา เด็กจึงรู้สึกสนุกเมื่อได้ทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ “ความรู้สึกเวลาได้จับของนี่แปลกดีจัง”
“พอจับแล้วดึงจะมีของที่มองไม่เห็นออกมา สนุกจัง” “พอเห็นสิ่งของเคลื่อนไหวตามที่คิดไว้แล้วรู้สึกสนุกจัง” ถ้าให้พูดความรู้สึกแทนเด็ก ๆ ก็คงจะเป็นประมาณนี้ เด็กมักรู้สึกตื่นเต้นเมื่อเห็นสิ่งของและได้ขยับสิ่งของด้วยมือและนิ้วของตัวเอง
•••••
ดังนั้นเมื่อคุณแม่เห็นลูก “เล่นซน” เมื่อไรให้คิดทันทีว่านี่คือโอกาส “จงปล่อยให้เด็กดึงสิ่งของเล่นจนกว่าจะพอใจ” หากพูดแบบนี้คุณแม่บางท่านอาจกังวลว่า หากพลาดโอกาสในช่วงระยะไวต่อการเรียนรู้ไปแล้วคงหาโอกาสอีกได้ยาก ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกค่ะ คุณแม่ที่มีประสบการณ์จะรู้ดีว่าการพลาดโอกาสไปไม่ได้แปลว่าเด็กจะไม่สามารถพัฒนาทักษะนั้นได้อีก เพียงแต่หากเราไม่ปล่อยให้เด็กได้ทำบ่อย ๆ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม การจะพัฒนาในภายหลังอาจเป็นเรื่องยาก แน่นอนว่าหากเรามีความพยายามย่อมทำได้
•••••
แต่อย่างการเล่นโดยใช้มือและนิ้วนั้น เมื่อเด็กเริ่มโตเขาจะไม่รู้สึกสนใจอยากทำอีก เมื่อมาหัดทำทีหลังก็จะทำได้ไม่ดี ทำให้ไม่อยากทำ ผลคือเด็กจะมีทักษะที่ด้อยกว่าปกติ เคยมีคุณแม่บางท่านบอกฉันว่า “ลูกของฉันขยับมือไม่ค่อยคล่องเลย...”
•••••
หากเราให้เด็กได้เล่นอะไรที่ช่วยส่งเสริมการใช้มือในช่วงเวลาที่เหมาะสมก็อาจช่วยได้ ทักษะด้านการเคลื่อนไหวร่างกายก็มีระยะไวต่อการเรียนรู้เช่นกันเช่นเด็กๆ มักชอบเล่นด้วยการขว้างปาอาหาร แน่นอนว่าการปาอาหารไม่ใช่มารยาทที่ดี เราจึงต้องเตือนลูก แต่ช่วงนั้นเหละคือช่วงที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ “การขว้างสิ่งของ” หากเราสังเกตเห็นสัญญาณเช่นนี้จากลูก แล้วให้เขาได้เล่นขว้างของชนิดต่าง ๆ เมื่อเด็กโตถึงระดับชั้นประถม เขาจะกลายเป็นเด็กที่ขว้างบอลได้ไกล ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ว่ากันว่าร่างกายจะสร้างระบบเครือข่ายภายในสมองภายในสามขวบแรก
•••••
ดังนั้นหากเราเตรียมความพร้อมในช่วงเวลานี้ รากฐานของโครงสร้างก็จะมั่นคงและนำไปสู่การพัฒนาทักษะอื่น ๆ ในอนาคตแต่หากเราไม่สร้างเครือข่ายที่เหมาะสมไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อโตขึ้นเด็กอาจทำสิ่งนั้นไม่เก่ง หรือต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการฝึกฝนในทางประสาทวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่าช่วงอายุที่สมองจะสร้างเครือข่ายได้ดีที่สุดคือช่วงแรกเกิดถึง 2 ขวบ ถัดมาคือช่วง 3-5 ขวบ
•••••
ดังนั้นหากเราให้เด็กได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ภายในช่วงหกขวบแรก แม้จะลืมไปบ้างแต่สมองจะสามารถเรียกทักษะนั้นกลับมาได้ แม้ฉันจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์ แต่จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอเด็กมากว่า 9,000 คน ฉันเชื่อว่าทักษะที่ได้รับการพัฒนาภายในช่วงหกขวบแรกจะสามารถเรียกกลับมาได้
•••••
การเล่นโดยใช้มือและนิ้วจะทำให้เด็กมีสมาธิและมีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ! หนังสือเล่มนี้จะแนะนำของเล่นหลายชนิดที่เด็กจะได้มือและนิ้วในการเล่นหรือพูดอีกอย่างก็คือการเล่นที่ช่วยให้เด็กใช้มือและนิ้วได้คล่องแคล่ว ทำให้เด็กได้ใช้นิ้ว และขยับกล้ามเนื้อด้วยความต้องการของตัวเอง
•••••
สำหรับผู้ใหญ่แล้วการเคลื่อนไหวอย่างชำนาญตามที่ตัวเราต้องการนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเด็กถือเป็นพฤติกรรมที่ต้องใช้สมองอย่างมาก
•••••
ยกตัวอย่างเช่นเด็กที่พยายามจะเก็บลูกบอลตรงหน้า ก่อนอื่นเด็กจะต้องมองเห็นลูกบอลก่อน จากนั้นสมองจะออกคำสั่งให้ยื่นมือออกไป แล้วจึงใช้มือนั้นหยิบลูกบอลขึ้นมา ถือเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องระหว่างตากับมือ หากเราให้เด็กเล่นแบบนี้ก็จะช่วยพัฒนาทักษะที่ต้องใช้ตากับมือร่วมกัน
•••••
ก่อนหน้านี้ฉันเกริ่นไว้ว่าระบบเครือข่ายสมองจะถูกสร้างขึ้นภายในสามขวบแรก โดยที่คอร์เทกซ์ใหม่ <Neocortex – ส่วนหนึ่งของสมองในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม> จะมีเซลล์ประสาทอยู่ประมาณ 140,000ล้านเซลล์ เครือข่ายสมองที่มีความละเอียดมากขนาดนี้ ยิ่งเราให้มันทำงานภายในสามขวบแรกมากเท่าไร เครือข่ายสมองก็ยิ่งเชื่อมโยงกันมากขึ้น
•••••
หรือเราสามารถพูดในทางกลับกันได้ว่า การทำงานของสมองภายในสามขวบแรกสามารถกำหนดความเชื่อมโยงของเครือข่ายสมองได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้สมองส่วนต่าง ๆ ทำงานอย่างสมดุลด้วย